ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด อาคารอุบัติเหตุ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส 

วันนี้ (22 กันยายน 2557) เวลา 14.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดแพรคลุมป้าย อาคารอุบัติเหตุ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายแพทย์ฉัตรชัย ศรีนามวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ข้าราชการ และประชาชน เฝ้ารับเสด็จฯ

นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์  กล่าวว่า โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ก่อตั้งมาตั้งแต่พ.ศ.2484 ได้พัฒนาด้านโครงสร้างและศักยภาพมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด 400 เตียง ให้บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง มีผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินมารับบริการเฉลี่ยวันละ 90-100 ราย ทำให้พื้นที่ใช้สอยในอาคารแคบ มีข้อจำกัดในการดูแลรักษาและทำหัตถการผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินและการช่วยกู้ชีวิตในผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการจำนวนมากในเวลาเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวนเงิน 30,214,800 บาท และโรงพยาบาลได้สมทบเงินบำรุงเพิ่มเติม 4,105,200 บาท ก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 4 ชั้น วงเงินก่อสร้างจำนวน 34,320,000 บาท โดยขณะนี้พร้อมให้บริการประชาชนในจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดใกล้เคียง ให้ได้รับบริการด้านอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น    

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2547 จังหวัดนราธิวาสเป็น 1 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ความไม่สงบ งานอุบัติเหตุและฉุกเฉินโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นด่านแรกที่ต้องดูแลผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยในปี 2556 ที่ผ่านมามีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่มารับบริการรวม 503 ราย สำหรับสถิติมีผู้มารับบริการเฉลี่ยวันละ 90-100 ราย มารับบริการมากที่สุดเวลา 16.00 น.- 24.00 น. เฉลี่ยปีละ 28,000 ราย เป็นผู้ป่วยอุบัติเหตุประมาณ 9,000 ราย ผู้ป่วยฉุกเฉินประมาณ 19,000 ราย

บุคลากรงานอุบัติเหตุและฉุกเฉินของโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ประกอบด้วย แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน 2 คน พยาบาลวิชาชีพ 21 คน เวชกิจฉุกเฉินระดับกลาง 6 คน พนักงานช่วยเหลือคนไข้ 6 คน พนักงานทั่วไป 4 คน  โดยมีแพทย์เวร พยาบาล ประจำตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับกรณีเกิดอุบัติเหตุหมู่ มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่จำเป็น เช่น รถพยาบาลฉุกเฉิน เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า เครื่องช่วยหายใจ เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจ ตู้ควบคุมอุณหภูมิทารกขณะเคลื่อนย้าย เป็นต้น