ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชาคมสธ.เตรียมเข้าพบรมว.สธ. 24 ก.ย.นี้ แลกเปลี่ยนนโยบายสาธารณสุข เสนอพีฟอร์พี ชมรมแพทย์ชนบทยันตามเดิมไม่เอาสุดตัว เสนอแนวทาง 1 ประเทศ 2 ระบบ ด้านหมอประชุมพรไม่เห็นด้วยแยกระบบ แนะต้องใช้กับรพ.ทุกระดับ ขณะที่สภาการพยาบาลย้ำต้องมีเกณฑ์เป็นธรรมกับทุกวิชาชีพ ฝากความหวังว่ารมต.ใหม่ลดเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ อย่าทำเพื่อคนกลุ่มเดียว

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

23 ก.ย.57 นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา และกรรมการชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ในยุคสมัยนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. คนปัจจุบัน พยายามเดินหน้านโยบายการจ่ายเงินค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงานของบุคลากรสาธารณสุข หรือพีฟอร์พี (P4P: Pay for Performance) ซึ่งเป็นนโยบายที่เพิ่มภาระงานให้แก่บุคลากรต่างๆ  โดยนโยบายนี้ได้สร้างความคิดเห็นขัดแย้งมากมาย จนปัจจุบันยังไม่สามารถเดินหน้าได้  อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน หากจะเดินหน้าเรื่องนี้อีกครั้ง ชมรมแพทย์ชนบทยังคงมีจุดยืนเหมือนเดิม คือ พีฟอร์พีควรออกเป็นแนวทาง 1 ประเทศ 2 ระบบ คือ ระบบแรกให้ใช้พีฟอร์พีเฉพาะรายบุคคลในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น เนื่องจากมีภาระงานในการตรวจวินิจฉัยคนไข้จำนวนมาก  ส่วนระบบที่ 2 หากจะใช้พีฟอร์พีในโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) ขอให้คิดเหมารวมเป็นทีมงาน เนื่องจากบริบทของรพช. ทำงานเป็นทีมในการออกตรวจผู้ป่วย เน้นส่งเสริมป้องกันโรค การจะมาคิดเป็นรายบุคคลย่อมทำไม่ได้  

"ชมรมแพทย์ชนบทยังคงยืนยันไม่เอาพีฟอร์พีแบบเดิมที่คิดเป็นรายบุคคล โดยเรื่องนี้หากจะมาหาข้อยุติอีกครั้ง เราก็ยินดี เนื่องจากขณะนี้ทั้งรัฐมนตรีว่าการ สธ. และรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.ต่างเป็นคนกลาง ไม่เหมือนสมัยปลัด สธ. และนพ.ประดิษฐ์ ซึ่งมีจุดยืนว่าจะเดินหน้าพีฟอร์พีอย่างเดียว โดยไม่ฟังเสียงใคร” นพ.สุภัทร กล่าว

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.) และตัวแทนประชาคมสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ในวันที่ 24 กันยายน ประชาคมสาธารณสุขกว่า 100 คน จะเดินทางเข้าพบศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. โดยจะมีตัวแทนเข้าหารือและแลกเปลี่ยนนโยบายเพื่อสาธารณสุขร่วมกัน โดยในครั้งนี้ สพศท.จะเสนอเรื่องพีฟอร์พี ขอให้มีการหารือเพื่อให้ได้ข้อยุติและออกประกาศสั่งการให้ทุกโรงพยาบาลทุกระดับเดินหน้าเรื่องดังกล่าว ส่วนที่ชมรมแพทย์ชนบทเสนอว่าให้แยกระหว่างรพช. กับโรงพยาบาลจังหวัด โดยรพช.ขอใช้พีฟอร์พีแบบเหมารวมนั้น ถือว่าไม่ถูกต้อง พีฟอร์พี คือการคิดค่าตามผลงานของแต่ละคน จะไปเอาผลงานคนอื่นไม่ได้ 

ดร.กฤษดา แสวงดี

ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า เรื่องพีฟอร์พีมีการคุยกันมานานตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่ผ่านมา โดย สธ.มีความพยายามจัดประชุมให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยกัน เพื่อหาข้อยุติและเป็นธรรมกับทุกวิชาชีพ แต่บางกลุ่มก็ไม่ยอมมา ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไร เมื่อไม่ได้ข้อยุติก็ออกเป็นการจ่ายเงินเยียวยาไปก่อนที่จะมีพีฟอร์พี ซึ่งเมื่อถึงเวลาต้องมาพูดถึงพีฟอร์พีอีกครั้งว่าจะเดินหน้าอย่างไร  ก็ยังมีความเห็นเหมือนเดิมว่า ต้องมีเกณฑ์ที่เป็นธรรมกับทุกวิชาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำจริงๆ  เพราะหากสุดท้ายบางวิชาชีพได้เงินค่าตอบแทนมาก บางวิชาชีพได้ค่าตอบแทนน้อย ทั้งที่บางวิชาชีพทำงานมากกว่า แบบนี้ก็ไม่เป็นผลดี   

“เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ ที่มีรัฐมนตรีว่าการ สธ. และรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.จะเข้าใจปัญหา โดยเฉพาะ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในแวดวงสาธารณสุขมานาน เข้าใจระบบและปัญหาอย่างดี จึงอยากฝากความหวังกับท่าน ขอให้ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพได้อย่างแท้จริง” ดร.กฤษดา กล่าว    

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่ากังวลหรือไม่ว่าในทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ. มีบุคคลที่เคยอยู่ในชมรมแพทย์ชนบท จะมีผลต่อการเดินหน้าพีฟอร์พีหรือไม่ ดร.กฤษดา กล่าวว่า หลักการต้องเป็นไปตามหลักการ หากมีใครที่ได้รับตำแหน่ง ในเวลาแบบนี้ที่ต้องการปฏิรูปประเทศ แม้แต่ในกระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องคำนึงถึงภาพรวมเป็นสำคัญ หากยึดเรื่องของตนเอง คงเป็นเรื่องเศร้าสำหรับประชาชนทุกคน ไม่ใช่แค่วิชาชีพเท่านั้น

ขณะที่นสพ.มติชน วันที่ 24 ก.ย.57 รายงานว่า นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ชมรมแพทย์ชนบทร่วมกับเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ได้เข้าพบ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอหารือ 6 ข้อ คือ 1.เสนอให้มีการบริหาร 3 กองทุนอย่างบูรณาการ ทั้งกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) 2.เสนอให้ยกเลิกการจัดระบบบริการสุขภาพในรูปแบบเขตสุขภาพ เพราะอาจนำไปสู่การรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง 3.ออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุและผู้พิการสามารถทำงานได้ โดยเน้นการทำงานด้านฝีมือ ด้านความรู้มากกว่าการใช้แรงงาน

4.เร่งแก้ปัญหาท้องไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่น และปัญหาอุบัติเหตุ 5.เร่งแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในวิชาชีพ โดยขอให้ยกเลิกนโยบายจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี (P4P: Pay for Performance) และกลับไปใช้ระเบียบการจ่ายเงินค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามเดิม และ 6.ขอให้มีการตรวจสอบการบริหารงานขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) เนื่องจากพบว่า 2 ปี หลังจากที่ปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ.การบริหารงานล้มเหลวมาก ไม่สามารถผลิตยาได้ทัน และขอให้คืนความเป็นธรรมแก่ นพ.วิทิต ด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อกู้ชื่อเสียง