ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชาคมเข้าพบรมว.สธ. ยื่นข้อเสนอปฏิรูปกระทรวง 3 ข้อ เน้นการทำงานระบบเขตสุขภาพ กระจายงาน มอบอำนาจในเขตบริหารจัดการร่วม ปรับระบบการเงินการคลังให้สอดคล้อง อ้างเหตุสปสช.ส่งงบไม่เต็มทำรพ.ขาดสภาพคล่อง แถมตัดงบให้กองทุนย่อยถึง 50 % จี้เพิ่มธรรมาภิบาล แต่งตั้งโยกย้ายต้องไม่ถูกแทรกแซงจากการเมือง ด้านหมอรัชตะเผยเข้าใจสภาพปัญหาสธ.มีความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ อยากให้สธ.เข้มแข็ง ให้เขตสุขภาพเน้นส่งเสริมป้องกันโรคในรพช.

25 ก.ย. 57 ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเวลา 08.30 น. ประชาคมสาธารณสุข นำโดย พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา ประธานประชาคมฯ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ และนพ.สุทัศน์ ศรีวิไล กรรมการประชาคมฯ พร้อมด้วยสมาชิกกว่า 30 คน เดินทางเข้าพบนพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข (สธ.) ยื่นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข

โดย พญ.อุทุมพร กล่าวว่า ได้มาหารือและยื่นข้อเสนอต่อรัฐมนตรี 3 ข้อ คือ 1.ขอให้แก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนที่ยังกระจุกตัวอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ ขาดการกระจายสู่โรงพยาบาลขนาดเล็ก กลไกการเงินการคลังในระบบหลักประกันสุขภาพเป็นอุปสรรต่อการส่งต่อ ตรงนี้อยากให้มีการแก้ปัญหาด้วยการสร้างระบบเขตสุขภาพให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการกระจายงานและมอบอำนาจให้เขตสุขภาพในการบริหารจัดการร่วม ใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุกภาคส่วนของหน่วยบริการภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยแพทย์ ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาแบบเบ็ดเสร็จภายในเขตสุขภาพ

2.ปัญหาที่เกิดจากการจัดบริการสุขภาพภายใต้การบริหารระบบการเงินการคลังในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งทำให้สธ.อ่อนแอเพราะไม่สามารถบริหารงบประมาณเองได้ ในขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดสรรงบประมาณ 50% ให้กับกองทุนย่อยๆ หลายกองทุนทำให้งบประมาณที่ลงไปยังหน่วยบริการได้ไม่เพียงพอ จนเกิดปัญหาการขาดสภาพคล่อง และเป็นปัญหาต่อการพัฒนารพ.ศูนย์ ส่วนรพ.ชุมชนก็ต้องกลายเป็นหมอหน้าคอมพ์ ไม่มีเวลาลงพื้นที่ดูแลสุขภาพของประชาชนจึงอยากให้พัฒนาระบบการเงินการคลังให้สอดคล้องกับนโยบายเรื่องเขตสุขภาพ เลิกเอาเงินเป็นตัวตั้งและหันมาทำงานด้านส่งเสริมป้องกันโรคมากขึ้น ลดการแบ่งย่อยกองทุน และปรับไปตามปัญหาของพื้นที่ 

3.การแก้ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล การแต่งตั้งผู้บริหารถูกแทรกแซงจากการเมืองจนทำให้เกิดความแตกแยกใน สธ. การดำเนินการเรื่องนี้ต้องใช้หลักธรรมาภิบาลให้มาก โดยประชาคมสาธารณสุขขออาสาเฝ้าระวังปกป้องระบบดังกล่าว

ด้าน นพ.รัชตะ กล่าวภายหลังจากรับฟังปัญหาจากประชาคมสาธารณสุขว่า ตนเข้าใจสภาพปัญหาของ สธ.ดี ว่าทุกพื้นที่มีปัญหาแตกต่างกันไป ส่วนตัวก็อยากให้สธ.เข้มแข็ง อย่างเรื่องของเขตสุขภาพอยากให้มีการส่งเสริมป้องกันโรค รักษาฟื้นฟูให้ได้ครอบคลุมภายในรพ.ชุมชน เพราะขณะนี้ยังให้บริการน้อยอยู่ ต้องมีการพูดคุยประสาน ทั้งระบบ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ ใช้ทรัพยากรคุ้มค่า แต่หากโรคใดเกินขีดความสามารถค่อยส่งต่อรพ.จังหวัด เพื่อลดความกระจุกตัวในรพ.ใหญ่ๆ ส่วนเรื่องการเงิน ขณะนี้ต้องใช้การบริหารจัดเดิมไปก่อน โดยก่อนเข้าสู่งบประมาณในไตรมาสที่ 2 จะมีการพิจารณาจัดระบบอีกครั้ง.