ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ. เร่งพัฒนาระบบสุขภาพ ใช้ระบบธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เน้นการพัฒนาความเข้มแข็งโรงพยาบาลทุกระดับให้มีศักยภาพเต็มขีดความสามารถ ให้ประชาชนเข้าถึงง่าย ได้รับบริการที่มีคุณภาพ ใกล้บ้าน โดยเฉพาะรพช. 500 แห่ง เผยอยู่ระหว่างทีมที่ปรึกษาและทีมวิชาการเร่งทำกรอบแผนปฎิบัติการตามนโยบาย 10 ข้อ เร่งแก้ไขปัญหาโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน

24 ก.ย.57 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการทำงานแก่ผู้บริหาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นกรมหลักในการจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชน มีบุคลากร 338,334 คนหรือประมาณร้อยละ 90 ของบุคลากรในสังกัดทั้งหมด มีโรงพยาบาลในสังกัดตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ครอบคลุมทุกตำบลรวม 11,035 แห่ง โดยนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอกรอบแนวทางการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ ประชาชนเข้าถึงบริการดีขึ้นทั้งการเจ็บป่วยทั่วไปและโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน จากการรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่า ให้กระทรวงสาธารณสุข ใช้ศักยภาพในการจัดบริการสุขภาพที่ดีที่สุด มีประสิทธิภาพ คุณภาพ เข้าถึงง่าย จะเน้นให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการจัดระบบบริการสุขภาพ ให้สอดคล้องกับข้อมูลและความต้องการของประชาชนมากที่สุด โดยใช้ระบบธรรมาภิบาลเป็นแนวทางการบริหารจัดการ ให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข โดยเรื่องที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การเพิ่มความเข้มแข็งสถานบริการทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจนถึงโรงพยาบาลระดับเชี่ยวชาญ ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล การป้องกันควบคุมโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้เบ็ดเสร็จภายในเขตสุขภาพ รวมทั้งการเพิ่มสมรรถนะขีดความสามารถของโรงพยาบาลชุมชนขนาดกลางซึ่งมีประมาณ 500 แห่ง ให้สามารถดูแลประชาชนได้รับการดูแลรักษา และส่งต่อรักษาในโรงพยาบาลในเครือข่ายเดียวกันในกรณีที่เกินขีดความสามารถ

ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่อว่า ขณะนี้ ได้ให้คณะที่ปรึกษา ทีมวิชาการ เร่งขับเคลื่อนนโยบายการทำงานทั้ง 10 ข้อไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะมีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและของกระทรวงสาธารณสุข โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ความเห็นด้วย เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาระบบบริการประชาชนในช่วง 1 ปี ซึ่งถือเป็นโอกาสทองและช่วงเปลี่ยนผ่านในการวางรากฐานที่เข้มแข็งไปสู่อนาคต รวมทั้งเร่งพัฒนาโครงการบริการผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินใช้สิทธิ์ที่สถานบริการทั้งรัฐและเอกชนทุกแห่งที่อยู่ใกล้ เนื่องจากประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง และการป่วยฉุกเฉินและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเกิดขึ้นทุกวัน เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิต