ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ดัน"ยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ" ประเทศแรกของโลก เริ่มปี 58 เน้นเข้าถึงถุงยาง-สารหล่อลื่น หนุนผลิตถุงยางอนามัย 2 เกรด เพิ่มสารหล่อลื่นช่วยเซ็กซ์สุขสม หลังพบติดโรคจากเซ็กซ์พุ่ง-ป่องไม่พร้อม เผยยังติดขัดทัศนคติพ่อแม่ไม่ยอมรับ แม้เชื่อถุงยางอนามัยช่วยป้องกันปัญหาได้ 70%

26 ก.ย. 57 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวในงานแถลงข่าวเรื่องการจัดทำยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ ว่า ประมาณปี 2530 ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่กว่า 1.5 แสนคนต่อปี ต่อมาจึงได้มีการรณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์ซึ่งได้ผลดีสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้แต่ในช่วง 5 ปี หลังมานี้พบประชาชนเป็นโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะวัยรุ่นที่ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว เช่น หนองใน หนองในเทียม ซิฟิลิส และเอชไอวี รวมถึงปัญหาท้องไม่พร้อมปัญหาทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์กันเร็วขึ้นแต่ใช้ถุงยางอนามัยเพียง 30-40 % เท่านั้นดังนั้นประเทศไทยจึงได้จัดทำยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ง่ายและใช้ถุงยางเป็นประจำ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ต้นแบบในระดับเอเชีย และระดับโลก เพราะยังไม่เคยมีประเทศใดมียุทธศาสตร์นี้อย่างชัดเจนซึ่งอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเริ่มใช้ในปี 2558– 2562 แต่การรณรงค์ได้เริ่มดำเนินการก่อนหน้านี้แล้วโดยได้มีการส่งเสริมความรู้ สร้างเสริมทักษะชีวิตให้กับเด็กนักเรียน จัดตั้งจุดบริการถุงยางอนามัยในสถานที่ต่าง ๆจัดจุดบริการให้คำปรึกษา รักษาโรคทั้งแบบตั้งรับในสถานพยาบาลและเชิงรุกลงไปยังพื้นที่หมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล แต่สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรค์อยู่คือทัศนคติของคนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ปกครอง ที่แม้จะเห็นด้วยว่าถุงยางอนามัยสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และป้องกันการท้องไม่พร้อมได้ว่า 70% แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้ตั้งจุดบริการถุงยางอนามัยในโรงเรียนเพราะจะเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีเพศสัมพันธ์กันมากขึ้นซึ่งถือเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะเวลานี้วัยรุ่นเข้าถึงมีเพศสัมพันธ์เร็วอยู่แล้วจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยมากกว่า ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าการตั้งจุดบริการถุงยางอนามัยในโรงเรียนนั้นสามารถลดการติดเชื้อโรคจากกเพศสัมพันธ์และการท้องไม่พร้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผอ.ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพคณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ประชาชนยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการใช้ถุงยางอนามัยโดยเชื่อว่าส่งผลกระทบต่อความรู้สึกสุขสมระหว่างมีเพศสัมพันธ์ลงแต่จากการสำรวจความคิดเห็นของหญิงบริการทางเพศ พบว่า นอกจากถุงยางอนามัยจะช่วยป้องกันโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยังช่วยให้มีความสุขในการร่วมเพศมากขึ้น แต่ต้องใช้สารหล่อลื่นเข้ามาช่วยเพราะฉะนั้นตรงนี้จะเป็นแนวคิดหนึ่งในการผลักดันให้มีถุงยางอนามัย 2ระดับ คือระดับที่มีสารหล่อลื่นตามมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดอยู่ที่ 50 มิลลิกรัมต่อ 1 ชิ้น และ 2. ประเภทที่เพิ่มปริมาณสารหล่อลื่นให้มากขึ้นกว่าเกณฑ์มาตรฐานซึ่งอาจจะมีราคาสูงขึ้นบ้าง แต่อย่างน้อยจะช่วยให้ประชาชนใช้ถุงยางอนามัยมากขึ้นโดยไม่ไปลดความสุขสมระหว่างมีเพศสัมพันธ์

นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผอ.สำนักอนามัยเจริญพันธุ์กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ามีการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในทุกกลุ่มวัย แต่พบมาที่สุดในกลุ่มวัยรุ่นจากการเฝ้าระวังปัญหาการทำแท้งและมารพ.ใน 13 จังหวัดพบว่ากลุ่มอายุต่ำกว่า25 ปีทำแท้งสูงถึง 60% ซึ่งอนุมานได้ว่าการทำแท้งเกิดจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมดังนั้นจึงสนับสนุนให้ส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยให้เพิ่มขึ้น โดยฝ่ายชายต้องมีความรับผิดชอบฝ่ายหญิงก็ต้องรู้จักการปฏิเสธ หรือป้องกัน เพราะนอกจากจะป้องกันโรคติดต่อป้องกันการตั้งครรภ์แล้วยังสามารถป้องกันโรคเรื้อรังที่เกิดจาการมีเพศสัมพันธ์ได้เช่นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น

น.ส.วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วยผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA)กล่าวว่า อัตราการเกิดของประเทศไทยสวนทางกับทั่วโลก เพราะมีอัตราการเกิดลดลงจาก 1.2ล้านคนต่อปีเหลือเพียง 8 แสนคนต่อปีและคาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าอัตราการเกิดจะลดลงเหลือเพียง6 แสนคนต่อปี จึงเป็นห่วงเรื่องคุณภาพของเด็กที่จะเกิดมาเพราะปัจจุบันพบว่ามีเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่นสูงถึง1.3 แสนคน ดังนั้นยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้.