ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์เผย คนไทยป่วยด้วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น แนะเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงจากอาหารไขมันสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หันมาออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สมาพันธ์หัวใจโลกกำหนดให้วันที่ 29 กันยายนของทุกปีเป็นวันรณรงค์หัวใจโลก เนื่องจากกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและของโลก ซึ่งจากข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลก พบว่า โรคดังกล่าวมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของสาเหตุการเสียชีวิตประชากรโลก ประชากรจำนวน 17.3 ล้านคน เสียชีวิตก่อนวัยอันควร และจากการคาดการณ์ในปี 2030 นี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 23 ล้านคน

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงปี พ.ศ.2554-2556 พบว่าอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ต่อประชากร 100,000 คน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี พ.ศ.2556 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 54,530 คน เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 150 คนหรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน สะท้อนให้เห็นว่าโรคหัวใจขาดเลือดเป็นโรคที่รุนแรงและต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน สำหรับอาการที่บ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ คือจุกแน่นหน้าอก จะมีอาการจุกบริเวณยอดอกตรงกลางมักเป็นในขณะออกกำลังกาย หลังจากหยุดออกกำลังกายอาการจะดีขึ้น มีอาการเจ็บหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับ และอาการเจ็บนี้จะปวดร้าวไปที่หัวไหล่ซ้ายหรือไปที่กราม ถ้าอาการเจ็บหน้าอกนี้ป็นนานเกินกว่า 5 นาที พักแล้วไม่ทุเลาหรืออาการเจ็บรุนแรงขึ้นเรื่อยๆต้องรีบพบแพทย์ มีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะเวลาทำงาน หัวใจเต้นผิดปกติ จังหวะการเต้นของชีพจร มีสะดุดหรือไม่สม่ำเสมอ  

ที่สำคัญประชาชนจะต้องปฎิบัติตนให้ถูกต้อง หากพบว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ ความเครียด ไม่ออกกำลังกาย ไม่กินผักผลไม้ โรคอ้วนลงพุง เช่น รอบเอว มากกว่า 36 นิ้วในผู้ชาย และมากกว่า 32 นิ้วในผู้หญิง กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจตั้งแต่อายุน้อย จะต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยในเบื้องต้นจากแพทย์

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนปฎิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เปลี่ยนแปลงนิสัยการกิน งดอาหารมัน เค็ม เพิ่มอาหารพวกผัก ผลไม้ และพวกเส้นใยต่างๆ ทำจิตใจให้แจ่มใส งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อประเมินภาวะสุขภาพและระดับความเสี่ยง ซึ่งเป็นปัจจัยการเกิดโรคหัวใจได้