ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เตือนประชาชนในพื้นที่ฝนตก-น้ำท่วมขัง ระวังโรคฉี่หนู ปีนี้เสียชีวิตแล้ว 12 รายมากสุดที่ภาคใต้ และอีสาน แนะหากมีอาการไข้สูงปวดตามกล้ามเนื้อน่องโคนขาทั้ง 2 ข้าง ตาแดง รีบพบแพทย์

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ในหลายพื้นที่ ยังมีฝนตกชุกหนาแน่น อาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และท่วมขัง ซึ่งจะทำให้สภาพพื้นดินเป็นดินโคลนชื้นแฉะอาจมีเชื้อโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถอยู่ในไตหนูและออกมากับฉี่ของหนู ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำที่ท่วมขัง โดยเฉพาะบริเวณน้ำขังที่หลุมบ่อเล็กๆ ปริมาณเชื้อโรคจะมีความเข้มข้น มีโอกาสติดต่อมาสู่คนได้สูง และเชื้อมีชีวิตอยู่ในน้ำ ดินแฉะๆ ได้นานหลายวัน จึงขอย้ำเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง โดยเชื้อโรคชนิดนี้ สามารถเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล หรือตามรอยถลอกต่างๆ ที่ขาและเท้า ของผู้ที่เดินย่ำพื้นดินที่เฉอะแฉะ หรือลุยแอ่งน้ำที่ท่วมขัง

จากรายงานข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้ฉี่หนู ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557-26 กันยายน 2557 มีผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั่วประเทศ 1,485 ราย ใน 67 จังหวัด เสียชีวิต 12 ราย มีรายงานในจังหวัดอำนาจเจริญ ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช สงขลา นราธิวาส ยะลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พระนครศรีอยุธยา จังหวัดที่มีอัตราผู้ป่วยต่อแสนประชากรสูงสุดในภาคใต้ ได้แก่ ระนอง พังงา ยะลา และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ ศรีสะเกษ และกาฬสินธุ์ ซึ่งยังพบผู้ป่วยโรคนี้มากที่สุดในกลุ่มเกษตรกร ถึงร้อยละ 50 รองลงมาคือผู้ที่มีอาชีพรับจ้าง ส่วนใหญ่อยู่ในอายุระหว่าง 45-54 ปี อายุต่ำสุดที่พบติดเชื้อคือ 2 ขวบ

ด้านนพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำท่วมขัง หรือเดินผ่านพื้นดินชื้นแฉะ ควรสวมรองเท้ายาง และให้รีบชำระล้างทำความสะอาดหลังเดินย่ำน้ำย่ำโคลนแล้ว ขอให้ผู้ปกครองดูแลเด็กเล็กให้ใกล้ชิด เนื่องจากเด็กยังไม่รู้จักวิธีการป้องกันตัวเอง และขอให้ดูแลบ้านให้สะอาด กำจัดขยะและเศษอาหารให้ถูกวิธี โดยใส่ในถุงพลาสติกหรือในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิดเพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยหรือเป็นแหล่งอาหารของหนูขอแนะนำให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของตนเอง และคนในครอบครัว ลักษณะสัญญาณอาการป่วยของโรคฉี่หนู มีดังนี้คือ มีอาการไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะปวดตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่น่องโคนขาทั้ง 2 ข้าง บางครั้งประชาชนอาจคิดเองว่าเป็นไข้ หรือปวดเมื่อยจากการขนย้ายสิ่งของหนีน้ำ และตาแดงทั้ง 2 ข้าง

หากมีอาการดังกล่าว ภายใน 2 วัน อาการไม่ดีขึ้นขอให้รีบพบแพทย์ และต้องแจ้งประวัติ การลุยน้ำย่ำโคลนด้วยทุกครั้ง เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว โรคนี้มียาปฏิชีวนะรักษาหายขาด ประชาชนไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากอาจทำให้ไปรับการรักษาล่าช้า เชื้อโรคลุกลามทำลายอวัยวะภายใน เช่น ไต ปอดรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้