ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลกชมไทยเจ๋ง คิดค้นแอนติบอดีรักษาอีโบลา ขอนำไปทดสอบกับเชื้อจริงที่สหรัฐฯ หากได้ผลดีอาจลัดขั้นตอนนำไปรักษาโรคทันที

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า หลังจากที่ รพ.ศิริราช ได้แถลงข่าวความสำเร็จของการวิจัยพบแอนติบอดีขนาดเล็กกว่าแอนติบอดีปกติถึง 5 เท่า หรือเรียกอีกอย่างว่า แอนติบอดีสายเดี่ยว และอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดเพื่อการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาต่อไปนั้น

ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้รับอีเมลล์จาก Dr. Martin Friede หัวหน้าโครงการวิจัยอีโบลา ขององค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงความยินดีกับความสำเร็จของประเทศไทยในการพัฒนาแอนติบอดีที่สามารถยับยั้งการขยายจำนวนเชื้อไวรัสอีโบลาในเซลล์ของมนุษย์ ในระดับห้องปฏิบัติการได้ ซึ่งถือว่ามีประโยชน์ และสามารถเปลี่ยนแปลงการรักษาเชื้อไวรัสอีโบลาได้ จึงอยากจะขอทำการพิสูจน์แอนติบอดีที่ใช้กับไวรัสปลอมที่ทางศิริราชพยาบาลสร้างขึ้นกับเชื้อไวรัสจริง ในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ4 ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากยีนส์ที่ศิริราชนำมาศึกษาทดลองนี้ เป็นยีนส์สังเคราะห์ เพื่อความปลอดภัยและหากสามารถทดสอบแล้วพบว่ามีประสิทธิภาพที่ดีก็จะนำไปสู่การพัฒนารักษาเชื้อไวรัสอีโบลาในคนได้ทันที โดยสามารถลดขั้นตอนการทดลองในสัตว์และคนได้ คาดว่าจะทำเรื่องรวบรวมเอกสารที่จำเป็น ตัวอย่างของแอนติบอดี้ และนักวิจัยของไทยบางส่วนไปร่วมทดสอบในสหรัฐอเมริกาได้ภายใน 2-3 สัปดาห์

"ส่วนตัวคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรจะสร้างห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 4 ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยระดับสูงสุดอย่างน้อยๆ 1 แห่ง โดยอาจจะให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. เป็นหน่วยงานหลักในการทำสร้างห้องปฏิบัติการชีวะนิรภัยระดับ 4 เพื่อเป็นศูนย์กลางของประเทศ เนื่องจากห้องปฏิบัติการที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมดตอนนี้ระดับความปลอดภัยสูงสุดมีเพียงแค่ระดับ 3 เท่านั้น ส่วนตัวอยากให้รัฐบาลหันมาสนใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น"ศ.คลินิกนพ.อุดมกล่าว