ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ป่วยโรคหัวใจในพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี ล่ารายชื่อกว่า 2,000 รายชื่อ ยื่นหนังสือผ่านสื่อมวลชนช่วยส่งต่อนายกฯ และหัวหน้า คสช.เพื่อทวงสิทธิในการรักษาพยาบาล อ้างถูกส่งตัวมารักษาที่รพ.หาดใหญ่ จนคิวล้นกว่า 500 คิว รอตั้งแต่ 5 เดือน-2 ปี แถมรพ.หาดใหญ่ยังกักตัวไม่ส่งต่อ รพ.ม.อ.ที่มีความพร้อมในการรักษาผู้ป่วยกว่า อ้างเป็นนโยบายสธ. แต่สงสัย ถ้าเป็นผ่านอกเวลาที่ต้องจ่ายเงิน 25,000-75,000 บาท กลับได้รับการผ่าตัดเร็ว ข้องใจมีสิทธิ 30 บาท และประกันสังคม แต่ก็ยังต้องจ่ายเงินเพิ่ม

       

3 ต.ค.57 เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์ ศูนย์ข่าวหาดใหญ่รายงานว่า ได้มีผู้ป่วยโรคหัวใจ และตัวแทนผู้ป่วยจาก จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี จำนวน 12 คน นำหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และ นายกรัฐมนตรี จำนวน 2,000 กว่ารายชื่อ เข้าขอความเป็นธรรมจากผู้สื่อข่าว เพื่อเป็นสื่อกลางให้สังคมได้รับรู้ถึงความเดือดร้อนที่ผู้ป่วยโรคหัวใจใน จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี ได้รับ
       
น.ส.ศรีกัญญา บุญสวัสดิ์ ตัวแทนผู้เดือดร้อน ซึ่งเป็น อสม.ต.ท่าบอน อ.ระโนด จ.สงขลา และเป็นคณะกรรมการประเมินแผนสุขภาพ ต.ท่าบอน ได้เปิดเผยว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ลงชื่อส่งหนังสือร้องเรียนถึงความเดือดร้อนของประชาชนใน จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี ถึงหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยยื่นผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา ในหนังสือดังกล่าวขอให้ หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขสั่งให้โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา ส่งตัวผู้ป่วยโรคหัวใจ สามารถเลือกที่จะไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หรือ ม.อ.หาดใหญ่ และโรงพยาบาลอื่นๆ ที่มีความพร้อมในการรักษาอาการโรคหัวใจได้ 

ซึ่งในอดีตนั้นผู้ป่วยที่ถือบัตร 30 บาท และบัตรประกันสังคม สามารถที่จะเข้ารับการรักษาผ่าตัด ที่โรงพยาบาล ม.อ.ซึ่งมีความพร้อมกว่า โดยการส่งตัวของโรงพยาบาลในพื้นที่ที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ แต่ต่อมา ได้มีนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่ต้องการให้มีการส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ที่อยู่นอกสังกัดกระทรวงสาธารณะสุข จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยโรคหัวใจทั้งหมดถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ จนทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย เช่น ไม่มีเตียง ไม่มีคิวในการตรวจ และผ่าตัดในเวลาราชการ ต้องผ่าตัดนอกเวลาราชการ และจ่ายเงินการผ่าตัดตั้งแต่ 25,000 บาท ถึง 75,000 บาท ส่วนผู้ที่ไม่มีเงินจ่ายก็ต้องเสียชีวิตเพราะทนรอการผ่าตัด 400-500 คิวไม่ไหว
       
โดยผู้ร้องเรียนได้เปิดเผยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการยืนหนังสือร้องเรียนหัวหน้า คสช.ผ่านศูนย์ดำรงธรรม จ.สงขลา ไปแล้ว หนังสือดังกล่าวกลับไม่ได้มีการส่งถึงหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี โดยศูนย์ดำรงธรรม ได้ส่งหนังสือไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา และได้ส่งหนังสือร้องเรียนของผู้เดือดร้อนไปยังโรงพยาบาลหาดใหญ่ ในเวลาต่อมา มีผู้อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลหาดใหญ่ โทรศัพท์มาข่มขู่คุกคามพวกตนที่ลงชื่อในหนังสือร้องเรียน และร้องสิทธิของผู้ป่วย โดยให้ไปพบกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ทำให้พวกตนหวาดกลัวว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัยจากการร้องเรียนในครั้งนี้
ในขณะที่ นายชูชีพ โชตินภา และนายพานิช จินดาการ ผู้ป่วยโรคหัวใจจาก อ.หาดใหญ่ และ อ.สะเดา เปิดเผยว่า ตนป่วยเป็นโรคหัวใจต้องได้รับการผ่าตัดด่วน แต่ทางโรงพยาบาลหาดใหญ่ไม่มีคิวในการผ่าตัด เมื่อขอให้มีการส่งตัวให้โรงพยาบาล ม.อ. ทางโรงพยาบาลหาดใหญ่ ไม่ยินยอม จนสุดท้ายต้องไปร้องเรียนที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 12 สงขลา จึงได้มีการส่งตัวไปที่โรงพยาบาล ม.อ. และได้รับการผ่าตัดภายใน 5 วันเท่านั้น 

เช่นเดียวกับ นายศักดา อนุรักษ์ ที่เปิดเผยว่า ตนเองรอคิวการผ่าตัดจากโรงพยาบาลหาดใหญ่ไม่ไหว เพราะมีอาการหนัก โรงพยาบาลหาดใหญ่ จึงส่งตัวไปตรวจรักษากับโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชน โดยต้องจ่ายเงิน จำนวน 50,000 บาท ทั้งที่หากมีการส่งตัวไปที่โรงพยาบาล ม.อ. คงไม่ต้องจ่ายเงินเลย

ส่วน นายกระจ่าง ศิริปริวาทิน เปิดเผยว่า ตนเองต้องจ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาลหาดใหญ่ เพื่อรักษานอกเวลา เพราะโรงพยาบาลไม่ยอมส่งตัว โดยอ้างว่าเป็นนโยบายเช่นกัน
       
ด้านผู้ร้องเรียนจาก จ.ปัตตานี รายหนึ่งเปิดเผยว่า ถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลปัตตานี มายังโรงพยาบาลหาดใหญ่เพื่อรักษาโรคหัวใจ ต้องเดินทางจากปัตตานีมายังโรงพยาบาลหาดใหญ่ถึง 5 ครั้ง ก็ยังไม่มีคำตอบว่าจะได้รับการตรวจรักษา และผ่าตัดเมื่อไหร่ กลายเป็นภาระในการเสียค่าใช้จ่าย จนสุดท้ายต้องมีการวิ่งเต้น จนทางโรงพยาบาลส่งตัวมายังโรงพยาบาล ม.อ. ซึ่งได้รับการผ่าตัดในเวลาเพียง 7 วันเท่านั้น เรื่องที่เกิดขึ้นกับคนป่วยใน จ.ปัตตานี เหตุการณ์เหล่านี้ไม่เกิดขึ้นใน จ.นราธิวาส เพราะทราบว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เห็นถึงความเดือดร้อนของผู้ป่วยจึงได้มีการตกลงกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลนราธิวาส ขอให้โรงพยาบาลนราธิวาสส่งตัวผู้ป่วยโรคหัวใจไปยังโรงพยาบาล ม.อ.โดยตรง ทำให้คนป่วยของโรคหัวใจ และอื่นๆ ที่มีอาการหนักโชคดี ในขณะที่ จ.ปัตตานี ไม่ได้รับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
       
ผู้ร้องเรียนยังเปิดเผยถึงข้อสงสัยที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ว่า คิวการผ่าตัดของโรงพยาบาลหาดใหญ่ สำหรับโรคหัวใจยาวมากถึง 400-500 คิว ต้องใช้เวลาในการเข้าคิวตั้งแต่ 5 เดือนถึง 2 ปี เพื่อการรักษา และผ่าตัดในเวลาราชการ แต่ถ้าผู้ป่วยที่ต้องการผ่าตัดรักษานอกเวลาซึ่งต้องจ่ายเงินเองจะได้รักษา และผ่าตัดในเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ โดยมีการคิดค่าใช้จ่ายนอกเวลาตั้งแต่ 25,000 บาท เช่น ถ้าต้องการทำบอลลูนหลอดเลือด 1 เส้น ต้องจ่าย 25,000 บาท แต่ถ้าเส้นเลือกตีบ 3 เส้น ก็ต้องจ่าย 75,000 บาท จึงเกิดการตั้งข้อสงสัยจากผู้ป่วยว่า ทำไมถ้าเสียเงินแล้วแพทย์จึงมีคิวว่าง แต่ถ้าไม่จ่ายเงินทำไมแพทย์ถึงไม่ว่าง อยากให้โรงพยาบาลหาดใหญ่มีคำตอบให้แก่ประชาชนด้วย

นอกจากนั้น ผู้ร้องเรียนยังเปิดเผยว่า ในขณะที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ไม่ยอมส่งตัวประชาชนทั่วไปที่ยากจนถือบัตร 30 บาท และบัตรประกันสังคมให้แก่โรงพยาบาล ม.อ. โดยอ้างว่าเป็นนโยบาย แต่จากการตรวจสอบพบว่า แพทย์ และญาติพี่น้องของแพทย์พยาบาล เป็นจำนวนมากที่ป่วยด้วยโรคหัวใจต่างได้รับการส่งตัวให้แก่โรงพยาบาล ม.อ.เช่น นายแพทย์ที่ อ.นาทวี นายแพทย์ที่ อ.บางกล่ำ ขณะนี้รักษาโรคหัวใจอยู่ที่โรงพยาบาล ม.อ.หาดใหญ่ ทั้งนั้น จึงสงสัยว่าทำไมโรงพยาบาลหาดใหญ่ถึงไม่ยอมส่งตัวผู้ป่วยที่ไม่มีเงินไปยังโรงพยาบาล ม.อ.ซึ่งอยู่ใกล้กัน มีแพทย์ และเครื่องมือที่พร้อมในการรักษาพยาบาล แต่กลับส่งไปยังโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ และส่งไปยังโรงพยาบาลศูนย์ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ไกลตั้ง 400 กิโลเมตร
       
โดยตัวแทนผู้ป่วย และผู้ป่วยทั้ง 12 คน ได้กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการเรียกร้องตามสิทธิผู้ป่วย ซึ่งมีสิทธิที่จะเลือกสถานที่รักษาพยาบาลได้ ขอให้โรงพยาบาลหาดใหญ่ส่งตัวของผู้ป่วยที่ต้องการเลือกโรงพยาบาลที่ต้องการได้ และขอให้กระทรวงสาธารณสุขสั่งการให้โรงพยาบาลในจังหวัด และอำเภอ สามารถส่งตัวผู้ป่วยโรคหัวใจไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ม.อ.หาดใหญ่ได้ ตามความต้องการของผู้ป่วย เพราะโรงพยาบาล ม.อ. หาดใหญ่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ต่างสร้างจากภาษีของประชาชน มีเครื่องมือ มีความพร้อมของแพทย์ในการช่วยชีวิตของประชาชน ทำไมประชาชนจะเลือกไปใช้บริการไม่ได้
       
แม้โรงพยาบาลเหล่านี้เป็นโรงพยาบาลต่างสังกัด แต่ก็ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเช่นกัน จึงไม่ควรที่กักตัวคนไข้ไว้ โดยคิดเพียงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากสปสช.เพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้คิดถึงความเดือดร้อนของผู้ป่วยที่ต้องเสียเวลา ต้องจ่ายเงินเพิ่ม และอาจจะเสียชีวิตเพราะรักษาไม่ทันเวลา ที่สำคัญวันนี้โรงพยาบาลหาดใหญ่ เป็นโรงพยาบาลที่แออัด มีคนไข้ล้น จนต้องมีเตียงเสริมริมทางเดิน หน้าลิฟต์ หน้าบันได คนไข้บางคนไม่มีเตียง ต้องปูเสื่อนอนหน้าห้องน้ำ จึงสมควรแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยด่วน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รพ.หาดใหญ่แจงส่งต่อผู้ป่วยหัวใจไม่ได้ทุกคน รพ.อาจเจ๊ง วอนเข้าใจระเบียบรัฐ