ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วัคซีนบีซีจีเป็นวัคซีนที่ใช้เพื่อป้องกันวัณโรคที่มีเพียงชนิดเดียวในปัจจุบัน และใช้กันมานานกว่า 80 ปี วัคซีนบีซีจีถูกพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ. 2451 โดย Dr. Albert Calmette แพทย์ชาวฝรั่งเศสและ Dr. Calmille Guerin สัตวแพทย์ชาวฝรั่งเศส แห่งสถาบันปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศส และได้นำมาใช้ในปี พ.ศ. 2464 

 

กรรมวิธีในการผลิตวัคซีนบีซีจีนั้น Dr.Calmette และ Dr.Guerin ได้ใช้เชื้อ Mycobacterium bovis ที่ได้จากฝีที่เต้านมของวัว ที่เรียกว่า Nocard strain แล้วทำให้เชื้ออ่อนฤทธิ์ลง แต่เนื่องจากขณะที่เริ่มทำการพัฒนาวัคซีนนั้นอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงทำให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความยากลำบาก จากความขาดแคลนวัตถุดิบที่จะใช้ในการพัฒนาวัคซีนและการหนีภัยสงคราม ทำให้ต้องใช้เวลานานถึง 13 ปี ทำการทดลองเพาะเชื้อซ้ำๆ ถึง 230 ครั้ง ระหว่าง พ.ศ. 2451-2464 จนเมื่อสงครามโลกสงบลง และเกิดการระบาดของวัณโรค จึงได้มีการนำวัคซีนมาทดลองใช้ในสัตว์ พบว่าไม่ก่อให้เกิดอันตราย จึงได้มีการนำวัคซีนมาใช้กับมนุษย์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2464 โดยการให้ทางปากแก่เด็กแรกเกิดที่แม่ตายจากวัณโรค ซึ่งพบว่าเด็กที่ได้รับวัคซีนไม่ได้รับอันตรายจากวัคซีนและไม่เป็นวัณโรค จึงได้มีการให้วัคซีนแก่ทารกแรกเกิดที่แม่เป็นวัณโรครุนแรงรายอื่นๆ ในประเทศฝรั่งเศส โดยให้แม่ของเด็กเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้เด็กรับวัคซีนหรือไม่ ซึ่งในระหว่าง พ.ศ. 2464-2467 มีการให้วัคซีนทางปากแก่เด็กมากกว่า 300 คน หลังจากได้มีการติดตามเด็กที่ได้รับวัคซีน พบว่า มีอัตราการติดเชื้อวัณโรคน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีน ทำให้ประเทศอื่นๆ ในแถบทวีปยุโรปและประเทศนอกทวีปยุโรปได้มีการให้วัคซีนแก่ทารก ต่อมาพบว่าการให้วัคซีนโดยการฉีดเข้าผิวหนังหรือเข้าใต้ผิวหนังจะทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อทูเบอร์คูลิน ที่เชื่อว่าเป็นตัวชี้วัดการเกิดภูมิต้านทานได้ดีกว่าการให้ทางปาก จึงได้เปลี่ยนวิธีการเป็นการฉีดและการฉีดเข้าผิวหนังเป็นวิธีที่ถูกเลือกใช้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน เพราะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนน้อยกว่าวิธีฉีดเข้าใต้ผิวหนัง

วิธีการผลิตวัคซีนบีซีจีในแต่ละประเทศอาจจะมีกรรมวิธีในการผลิตที่แตกต่างกันไปบ้าง และอาจจะใช้เชื้อสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน แต่หลักเกณฑ์ที่สำคัญก็คือ เชื้อที่นำมาทำวัคซีนจะต้องถ่ายทอดติดต่อกันมาจาก Bacillus ของ Calmette และ Guerin เท่านั้น ซึ่งวัคซีนที่ผลิตได้จะต้องมีคุณภาพแรงพอที่ให้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกันวัณโรคได้ดี และไม่แรงเกินไป จนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ลักษณะของวัคซีนและการฉีดนั้น วัคซีนบีซีจีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นชนิดแห้งเก็บได้นาน 3 ปี ในที่อุณหภูมิ 2-8 °C โดยไม่ให้ถูกแสง เพราะเชื้อบีซีจีที่อยู่ในวัคซีนจะตายได้ถ้าถูกความร้อนและแสง ทำให้วัคซีนเสื่อมคุณภาพลง เวลาใช้ให้ละลายวัคซีนด้วยน้ำเกลือ 1 มล. ส่วนของวัคซีนที่ละลายแล้วเหลือให้เก็บไว้ได้เพียง 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นต้องทิ้งไป การให้วัคซีนนั้นต้องฉีดให้เด็กแรกเกิดทุกคน ซึ่งภูมิคุ้มกันจะเกิดภายหลังฉีด 4-6 สัปดาห์ และอยู่ไปได้นานประมาณ 10 ปี สำหรับวิธีการฉีดนั้น ใช้ฉีดเข้าผิวหนัง (intradermal) จำนวน 0.1 มล. ปฏิกิริยาภายหลังฉีด จะมีตุ่มนูน 6-8 มม. และหายไปในไม่ช้า แต่ราวสัปดาห์ที่ 2 หลังฉีดจะมีตุ่มนูนเกิดขึ้นและแตกออกเป็นแผลเล็ก ๆ มีหนอง ซี่งจะเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ประมาณ 6 สัปดาห์ ก็จะหายไปเหลือแต่รอยแผลเป็นขนาดเล็ก

ในประเทศไทย ความสำคัญในการที่จะป้องกันการแพร่ระบาดของวัณโรคเริ่มต้นขึ้น ในปี พ.ศ. 2463

เมื่อครั้งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “พระบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย” ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ทรงให้ความสนพระทัยในเรื่องวัณโรค หลังจากเสด็จกลับจากการศึกษาวิชาแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา พระองค์ได้ทรงไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลศิริราช ทรงเห็นว่าวัณโรคมีอยู่แพร่หลายในประชาชนทั่วไป ทั้งประชาชนยังไม่ทราบวิธีการรักษาและป้องกัน พระองค์จึงได้เรียบเรียงเรื่อง “โรคทุเบอร์คุโลสิล” ประทานให้กรมสาธารณสุขเพื่อพิมพ์เป็นเอกสารสาธารณสุขศึกษา และจัดพิมพ์เผยแพร่ช่วยในงานถวายพระเพลิงสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2463 ต่อมากรมสาธารณสุขในสมัยนั้นได้จัดพิมพ์แจกจ่ายให้แก่ประชาชนอีกหลายครั้ง

ในปี พ.ศ. 2493 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ตกลงทำความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกและกองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ ในด้านความร่วมมือเพื่อการป้องกันการระบาดของวัณโรคในไทย และได้มอบหมายให้สถานเสาวภาหรือกองวิทยาศาสตร์ สภากาชาดไทยในขณะนั้นเป็นผู้ผลิตวัคซีนบีซีจีสำหรับฉีดป้องกันวัณโรค

ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 500,000 บาท แก่สภากาชาดไทย เพื่อใช้สร้างตึกขึ้นในบริเวณสถานเสาวภา สำหรับเป็นสถานที่ค้นคว้าและทดลองผลิตวัคซีนบีซีจีเพื่อใช้เองภายในประเทศ โดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 และสร้างเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2495  พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าพระราชทานนามว่า “ตึกมหิดลวงศานุสรณ์”  และได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เพื่อทำการเปิดตึกมหิดลวงศานุสรณ์  ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2496

หลังจากเปิดตึกแล้ว กองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาตรวจห้องทดลองในตึกมหิดลวงศานุสรณ์ ในปีพ.ศ. 2496 พร้อมทั้งส่งผู้ชำนาญการผลิตจากองค์การอนามัยโลกมาช่วยทำการผลิตวัคซีนบีซีจีที่สถานเสาวภาเป็นระยะเวลา 3 เดือน และกระทรวงสาธารณสุขได้มีการส่งแพทย์ในกองวิทยาศาสตร์ สภากาชาดไทยไปศึกษาและฝึกฝนการผลิตวัคซีนบีซีจี ที่ต่างประเทศ ทำให้การผลิตวัคซีนบีซีจีในไทยบรรลุวัตถุประสงค์ 

การผลิตวัคซีนบีซีจีเพื่อป้องกันวัณโรคให้กับประชาชนในไทยนั้น เป็นการผลิตวัคซีนให้เป็นไปตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข จากการประมาณการณ์ตามประชากรที่เกิดใหม่ เนื่องจากวัคซีนบีซีจีจะฉีดให้เด็กแรกเกิดทุกคนในประเทศ เพราะถูกจัดอยู่ในประเภท EPI vaccine (EPI = Expanded Programme of Immunization) ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรที่ผลิตวัคซีน 3 หน่วยงาน คือ องค์การเภสัชกรรม สถานเสาวภา สภากาชาดไทย และโครงการร่วมทุนไทย-ฝรั่งเศส ระหว่างองค์การเภสัชกรรมกับบริษัทซาโนฟี่ โดยผลิตวัคซีนได้เพียง 2 ชนิด คือวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี และวัคซีนบีซีจีป้องกันวัณโรค

เอกสารอ้างอิง

สถานเสาวภา สภากาชาติไทย.วัคซีนบีซีจี คือ วัคซีนอะไร [Online], สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2557, จาก http://www.saovabha.com/th/product_vaccine.asp?nTopic=1

วัคซีนบีซีจี. [Online], สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2557, จาก http://www.bangkokhealth.com/index.php/health/health-system/infectious/19243-วัคซีนบีซีจี.html

อดีตสู่ปัจจุบัน.สำนักวัณโรค. [Online], สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2557,จาก  

http://www.tbthailand.org/BTB_History.php

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง