ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.พบคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ มะเร็งรวมกันปีละกว่า 89,000 คนโดยร้อยละ 37 อยู่ในวัยแรงงาน อายุไม่ถึง 60 ปี และพบเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นโรคอ้วนอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน เหตุจากพฤติกรรมกินอาหารที่ไม่เหมาะสม และขาดการออกกำลังกาย แนะใช้“เทศกาลกินเจ”เป็นจุดเริ่มต้นปรับพฤติกรรมกินผักผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่งของอาหารแต่ละมื้อ

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือที่เรียกว่าโรคเอ็นซีดี (Non Communicable Disease : NCD) สูงขึ้นมาก โดย 4 โรคที่พบอันดับต้นๆได้แก่ มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ในปี 2555 มีผู้เสียชีวิตรวมกันจำนวน 89,775 คน โดยร้อยละ 37 หรือ 33,545 คน เสียชีวิตขณะอายุยังไม่ถึง 60 ปี ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คนวัยแรงงานอายุสั้นลง หากไม่เร่งแก้ไขคาดว่าปัญหาโรคเอ็นซีดีจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของครัวเรือน ทำให้ขาดแรงงานหลักหรือเสาหลักสร้างรายได้ให้ครอบครัว รวมทั้งผู้สูงอายุอาจขาดผู้ดูแล โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกคนเดียว

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อว่า สาเหตุของโรคเอ็นซีดี ส่วนใหญ่เกิดจากการมีพฤติกรรมสุขภาพประจำวันที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สมดุลย์กัน เช่น พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย โดยจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2554 พบว่าประชากรอายุ 11 ปีขึ้นไป ออกกำลังกายเพียงร้อยละ 26 นอกจากนี้ ยังนิยมรับประทานอาหารที่รสหวาน มัน เค็มมากขึ้น ส่วนผัก ผลไม้ รับประทานน้อยมากเฉลี่ยคนละ 1.8 กรัมหรือไม่ถึงวันละ 2 ขีด ซึ่งตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกกำหนดให้กินผักให้ได้วันละ 4-6 ขีด ซึ่งผลดีของการกินผักผลไม้ ร่างกายจะได้รับวิตามินบำรุงร่างกายตามธรรมชาติ เช่นวิตามินเอ วิตามินซี ทำให้มีภูมต้านทานโรค ช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น เนื่องจากมีกากใยมาก และกากใยนี้จะช่วยซับไขมันออกทางอุจจาระด้วย

นอกจากนี้ ยังพบว่า คนไทยประสบปัญหาน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน จากข้อมูลสุขภาพของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดในปี 2555 มีคนไทยอายุ 5 ปีขึ้นไปเป็นโรคอ้วนมากถึง 17 ล้านคนทั่วประเทศ และยังมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4 ล้านคนต่อปี เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์สุขภาพในกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่าเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปีขึ้นไปมีภาวะโภชนาการเกินร้อยละ 8 สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย จึงให้กรมอนามัยบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคม เป็นต้น

ทางด้านนพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยจะเร่งรัดรณรงค์ให้คนไทยทั่วประเทศตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดี ลดการบริโภคอาหาร หวาน มัน เค็ม ให้เป็นนิสัย กินผัก ผลไม้ทุกมื้อ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เลือกดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลมหรือน้ำหวาน งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ในเบื้องต้นนี้ขอเชิญชวนให้ประชาชนใช้โอกาสช่วง“เทศกาลกินเจ” ซึ่งในปีนี้จะมี 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 วันที่ 24 ตุลาคม -1 พฤศจิกายน 2557 เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและสร้างนิสัยต่อเนื่อง ในการเริ่มต้นปรับพฤติกรรมการบริโภคเพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี โดยในแต่ละมื้ออาหารให้เพิ่มการรับประทานผักให้ได้ครึ่งหนึ่ง ข้าว-แป้ง และโปรตีนจากเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเมล็ดอย่างละหนึ่งในสี่ของจาน รวมทั้งเสริมด้วยผลไม้สด 1 จานเล็ก เพื่อเป็นแหล่งของวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหาร

สำหรับแผนในปี 2557-2558 กรมอนามัยได้จัดโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเน้นการพัฒนาสุขภาพดีให้เด็กนักเรียนทั่วประเทศ ส่วนกลุ่มวัยรุ่นเน้นการส่งเสริมให้บริโภคอาหาร ออกกำลังกาย กลุ่มวัยทำงานจะร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในการทำงาน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ จัดโครงการส่งเสริมสุขภาพวัยทำงานโครงการส่งเสริมแบบแผนการมีกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพแก่บุคลากรในสถานประกอบการ รวมทั้งโครงการดูแลมะเร็งเต้านม การดูแลผู้สูงอายุ พัฒนาคลินิกไร้พุงในโรงพยาบาลทุกระดับ ซึ่งจะเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เป็นต้นเหตุการเจ็บป่วย และการตรวจคัดกรองโรคเช่นเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงให้ครอบคลุมกลุ่มวัยแรงงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90