ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์แนะประชาชนเลี่ยงข้อเสื่อมด้วยการลดน้ำหนักตัว หลีกเลี่ยง นั่งพับเพียบ คุกเข่าขัดสมาธิ นั่งยองๆ รวมถึงออกกำลัง ด้วยการเดินช้าๆ การปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายในน้ำ

เมื่อวันที่ 5 ต.ค.57 ที่โรงพยาบาลราชวิถี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวันโรคข้อสากลปี 2557 ว่า โรคข้อนับเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ โดยเฉพาะโรคข้อเสื่อม เนื่องจากผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 70 ล้านคน มีผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ประมาณร้อยละ 10 แสดงว่ามีประชากรกว่าเกือบ 7 ล้านคนที่เป็นโรคข้อเสื่อม นับว่าเป็นสถิติที่สูง ส่วนโรคข้ออื่นๆ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคเก๊าต์ มีอยู่ประมาณอย่างละ ร้อยละ 0.3 ซึ่งโรคข้อเสื่อมมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยเองที่ต้องทนทุกข์ทรมานเจ็บปวดจากโรคข้อและมีผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมรอบข้าง

ดังนั้น กรมการแพทย์ร่วมกับมูลนิธิโรคข้อ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และองค์กรร่วมทศวรรษโรคกระดูกและข้อแห่งประเทศไทย จึงได้จัดการประชุมวันโรคข้อสากล ปี 2557 เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพตนเองไม่ให้เจ็บป่วยด้วยโรคข้อ รวมถึงป้องกันไม่ให้มีความพิการเพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้ นอกจากนี้ ยังมีการบรรยาย เรื่อง โรคข้อเสื่อมในประเด็นต่างๆ เช่น การป้องกันและการออกกำลังกายเพื่อป้องกันข้อเสื่อม การเล่นกีฬาทำให้ข้อเสื่อมได้อย่างไร การใช้ยารักษาโรคข้อเสื่อม และนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคข้อ ตลอดจนมีการให้คำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูก และข้อ ตรวจวัดมวลกระดูก ตรวจสภาพร่างกาย

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคข้อเสื่อมเป็นโรคข้อที่เกิดจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนข้อต่อ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกระบวนการเสื่อมจะไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมและอาจทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาจเป็นผลมาจากการใช้ข้อทำงานมากเกินไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะในรายที่เคยประสบอุบัติเหตุต่อข้อ โอกาสเกิดข้อเสื่อมตามมาได้มากขึ้น ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการเสื่อมของข้อเร็วขึ้น คือ น้ำหนักตัว ท่าทางการเคลื่อนไหว และขาดการออกกำลังกาย ที่สำคัญประชาชนส่วนใหญ่ เมื่อมีอาการมักไม่รู้วิธีการปฏิบัติตัว และไม่ได้เข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง เพราะหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจถึงขั้นพิการได้

สำหรับการรักษานั้น ทำได้หลายวิธีแตกต่างกันไป ตั้งแต่การรักษาด้วยยา ผ่าตัด และกายภาพบำบัด ส่วนแนวทางการป้องกัน คือ การควบคุม หรือลดน้ำหนักตัว พยายามเลี่ยงอิริยาบถที่ต้องงอเข่ามากๆเช่น การนั่งพับเพียบ คุกเข่าขัดสมาธิ นั่งยองๆ เนื่องจากจะเพิ่มแรงอัดภายในข้อเข่า และจะมีผลต่อกระดูกอ่อนข้อเข่า และไม่ควรใช้สุขาแบบส้วมซึมที่ต้องนั่งยอง ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างยิ่งต่อข้อเข่า ไม่ควรขึ้นลงบันไดโดยไม่จำเป็น แนะนำให้ออกกำลังกายที่เหมาะสมตามวัย เช่น การเดินช้าๆ การปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายในน้ำ ไม่ควรการออกกำลังกายที่มีผลกระทบต่อข้อเข่า เช่น การวิ่ง การกระโดดเชือก การออกกำลังโดยการขึ้นลงบันได หากออกกำลังกายแล้วมีอาการปวดเข่า ควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทาง เน้นการบริหารเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า หากปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวได้ก็จะส่งผลให้ลดความเจ็บปวดจากโรคข้อเสื่อมได้.