ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สต.บุ่งคำ อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเครื่องตรวจหาอาการชาที่เท้าผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยใช้ก้านของต้นหมากเหลือง ผลการทดสอบประสิทธิภาพ พบว่าตรวจพบจุดสูญเสียความรู้สึกได้มากกว่าเครื่องมือที่ซื้อในท้องตลาดได้เกือบร้อยละ4  หลังใช้ตั้งแต่ปี 2556 ไม่มีผู้ป่วยเบาหวานเป็นแผลที่เท้า มั่นใจเป็นเครื่องมือพื้นบ้าน ป้องกันเท้าเน่าและความพิการได้  

ในงานประชุมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2557 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ นางจงกลณี นวลทา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บุ่งคำ อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี ได้นำเสนอผลงานวิชาการเรื่อง “วิถีพอเพียง เลี่ยงความพิการด้วยก้านหมากเหลือง” โดยนำก้านของต้นหมากเหลือง ซึ่งเป็นไม้ประดับในท้องถิ่น มาพัฒนาเป็นเครื่องมือพื้นบ้านง่ายๆ มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย ใช้ตรวจหาอาการชาที่เท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ป้องกันการเกิดบาดแผลที่เท้าโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย โดยโรคเบาหวานเมื่อป่วยแล้วหากควบคุมอาการไม่ดี จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือตาบอด ไตวาย เท้าเน่า แผลติดเชื้อ เสียชีวิตในที่สุด ทั่วโลกมีผู้ป่วยแล้วประมาณ 151 ล้านคน ส่วนในไทยมีผู้ป่วยประมาณ 3 ล้านคน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นางจงกลนีกล่าวว่า ที่ตำบลบุ่งคำ ตำบลพรสวรรค์ อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี มีผู้ป่วยโรคเบาหวานอยู่ในความดูแลของรพ.สต.บุ่งคำ 197 คน โดยต้องจัดบริการตรวจเท้าผู้ป่วยอย่างน้อยละปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนทางเท้า โดยใช้เครื่องมือแพทย์เรียกว่าโมโนฟิลาเมนท์ (Monofilament) ลักษณะเป็นเอ็นใส ราคาอันละ 90 บาท โมโนฟิลาเมนท์ 1 อันใช้ตรวจเท้าผู้ป่วยเบาหวานได้ 10 คน และหาซื้อยากในท้องตลาด ในการตรวจเท้าผู้ป่วยที่มีอยู่ต้องใช้โมโนฟิลาเมนท์ 10-15 อัน รวมใช้ต้นทุนไม่ต่ำกว่า 900 บาท

ในการลดค่าใช้จ่ายดังกล่าว ได้นำก้านของต้นหมากเหลือง ซึ่งมีลักษณะยืดหยุ่น เหนียวกว่าก้านมะพร้าว และมีน้ำหนัก 10 กรัม ยาว 7 เซนติเมตรเท่ากับโมโนฟิลาเมนท์ โดยเลาะเอาเฉพาะทางที่แข็งและเหลาส่วนปลายที่จะใช้จิ้มที่ฝ่าเท้า ให้มีลักษณะกลมมน และให้นักกายภาพบำบัดตรวจสอบประสิทธิภาพความปลอดภัย เพื่อใช้ตรวจประเมินอาการชาที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวาน จากการนำไปทดสอบกับผู้ป่วยเบาหวานควบคู่กับการใช้โมโนฟิลาเมนท์ พบว่า ก้านหมากเหลืองให้ผลดีกว่าร้อยละ 3.75 โดยก้านหมากเหลืองตรวจพบจุดชาที่ฝ่าเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน  เท้าซ้ายพบร้อยละ 20.63 เท้าขวาร้อยละ 21.88  ขณะที่โมโนฟิลาเม้นท์ ตรวจพบเท้าซ้ายร้อยละ 19.38 เท้าขวาร้อยละ 18.13 ก้านหมากเหลืองจะใช้ 1 อันต่อเท้า 1 ข้าง แล้วทิ้ง ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย หาได้ง่ายในชุมชน การพบจุดชาที่เท้าผู้ป่วยโรคเบาหวานยิ่งละเอียดยิ่งเป็นผลดีกับผู้ป่วย ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และได้รับการดูแลนวดเท้า กระตุ้นการไหลเวียนเลือดที่เท้าให้ดีขึ้น     

นางจงกลนีกล่าวต่ออีกว่า หลังจากที่นำก้านหมากเหลืองมาตรวจเท้าผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2556 พบว่า ไม่มีผู้ป่วยมีแผลที่เท้าหรือถูกตัดขาแม้แต่รายเดียว ในขณะที่ในช่วงปี 2554-2555 มีผู้ป่วยเบาหวานถูกตัดขาจากแผลเน่ารักษาไม่หายรวม 3 ราย และเท้าเป็นแผลเดือนละ 4-5 ราย ต้องใช้เวลาดูแลรักษาแผลนานประมาณ 1 เดือน การจัดบริการผู้ป่วยโรคเบาหวานที่รพ.สต.บุ่งคำ ขณะนี้ทำควบคู่กับการนวดสปาเท้าด้วยสมุนไพร โดยอสม. บริการที่รพ.สต.เดือนละ 1 ครั้ง  และมีการติดตามเยี่ยมบ้านเดือนละ 1 ครั้ง ทำให้ผู้ป่วยคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยผู้ที่ป่วยโรคเบาหวานนานที่สุด 20 ปี ผู้ป่วยอายุมากสุด 70 ปี ผลบริการนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่กับผู้ป่วยมีความผูกพัน อบอุ่นใจเสมือนญาติครัวเรือนเดียวกัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง