ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ขรก.สธ.บรรจุรอบแรกก่อน 11 ธ.ค.55 เตรียมแต่งดำร้อง "หมอรัชตะ" 17 ต.ค. ขอช่วยเหลือ หลังก.พ.ออกเกณฑ์ข้าราชการสาธารณสุขรุ่นใหม่ได้รับสิทธิพิเศษเหนือรุ่นเก่า ทั้งเงินเดือน แนวทางเลื่อนตำแหน่งไม่มีความเป็นธรรม สร้างความขัดแย้งในวิชาชีพ แนะสธ.ต้องออกจากก.พ. จึงจะแก้ปัญหาบุคลากรได้ ด้านหมอวชิระเผยเข้าใจข้าราชการกลุ่มนี้ เคยทำหนังสือสอบถาม ก.พ.แล้ว แต่ก.พ.ไม่สามารถแก้ไขได้ ทั้งระบุว่าไม่มีกม.ให้เยียวยาย้อนหลัง ส่วนเรื่องออกจาก ก.พ.นั้น ล่าสุด ทำร่าง พ.ร.บ.ขรก.สธ. แล้ว แต่ต้องหารือกับ ก.พ.ก่อน ชี้ต้องใช้เวลานาน

นายธนภัทร ศรีชุม

6 ต.ค.57 นายธนภัทร ศรีชุม ประธานกลุ่มข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขต้องการความยุติธรรม เปิดเผยว่า ตนเป็นหนึ่งในลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สายวิชาชีพ อาทิ พยาบาล เภสัชกรรม ฯลฯ โดยทำงานมานานร่วม 10 ปี โดยได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555  แต่ปรากฎว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้ออกหลักเกณฑ์ในการบรรจุข้าราชการฉบับ นร. 1008.1/54 ลว. วันที่ 6 มิถุนายน 2556 ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันในสายวิชาชีพ เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้สิทธิกับข้าราชการที่บรรจุใหม่หลังวันที่ 11 ธันวาคม 2555 มีสิทธิพิเศษมากกว่าข้าราชการที่บรรจุมากก่อน โดยหลักคือ 1.ให้ข้าราชการบรรจุตำแหน่งหลังวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ได้รับอัตราเงินเดือนเต็มขั้นถึง 24,450 บาท โดยไม่ต้องทำงานสะสมประสบการณ์ เหมือนข้าราชการที่บรรจุตำแหน่งก่อนหน้านั้น ซึ่งต้องทำงานมานานกว่า 10 ปี แต่กลับได้รับเงินเดือนเพียง 20,600 บาท  และ 2.ข้าราชการบรรจุใหม่ยังได้รับสิทธิในการทำเอกสารวิชาการ เพื่อเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งได้ทันที ซึ่งรวมถึงข้าราชการที่บรรจุมาก่อนก็ให้นับอายุการทำงาน ณ เวลาเดียวกัน คือ ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2555 ทั้งๆ ที่ข้าราชการเดิมมีอายุงานมาก่อน แต่ให้เริ่มทำผลงานเพื่อเลื่อนขั้นใหม่ตั้งแต่ต้น  ซึ่งการออกหลักเกณฑ์เช่นนี้ถือว่าไม่เป็นธรรม สร้างความขัดแย้งในวิชาชีพสาธารณสุขด้วยกันเอง

"ข้าราชการที่บรรจุก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 และได้รับผลกระทบมีทั้งหมด 12,000 คน ซึ่งพวกเราออกมาเรียกร้อง เพราะเห็นว่าหลักเกณฑ์นี้ออกมาไม่เป็นธรรม การมากำหนดสิทธิพิเศษให้ข้าราชการที่บรรจุใหม่ โดยที่ไม่เล็งเห็นถึงข้าราชการเดิม เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยที่ผ่านมาพวกเราเคยออกมาเรียกร้องขอให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ช่วยเหลือ และเข้าพูดคุยกับทาง ก.พ.เพื่อขอให้แก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้เยียวยาผลกระทบ โดยให้มีการปรับเงินให้มีอัตราเท่ากันทั้งหมด แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล ซึ่งพวกเราเข้าใจ สธ.ว่าพยายายามช่วย แต่ในเมื่อไม่มีความคืบหน้า ในวันที่ 17 ตุลาคม 2557 เวลา 06.00 น.เป็นต้นไป พวกเราจะพร้อมใจกันแต่งชุดดำ เดินทางไปยังกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เพื่อขอเข้าพบและขอความเห็นใจกับ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. เพื่อช่วยผลักดันเรื่องนี้  ในการเจรจากับก.พ.อีกครั้ง หรือขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ เนื่องจากปัญหาบุคลากร สธ.เป็นเรื่องเฉพาะ และโครงสร้างบุคลากรก็เหมือนรังมด มีจำนวนมาก ควรแก่การออกนอกระบบมาดูแลกันเอง โดยขอให้ออกจาก ก.พ. และให้ สธ.บริหารจัดการเองดีกว่า" นายธนภัทร กล่าว 

นายธนภัทร กล่าวอีกว่า การเดินทางมาเรียกร้องความเป็นธรรมครั้งนี้ หลายคนอาจไม่เข้าใจ และมองว่าเป็นเรื่องค่าตอบแทน แต่จริงๆ อยากบอกว่าทั้งหมดเป็นสิทธิพื้นฐาน ในเมื่อล้วนทำงานให้ สธ. ก็ควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน ซึ่งพวกตนก็ทำงานกระจายทั่วประเทศ ตามโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน ทั้งในถิ่นทุรกันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย ก็ควรมีสิทธิไม่ใช่หรือ อย่างไรก็ตาม  ส่วนการเรียกร้องครั้งนี้จะมารวมตัวกันมากหรือน้อยนั้น คงบอกไม่ได้  ขึ้นอยู่กับสิทธิส่วนตัว แต่จากการพูดคุยกัน  ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีกว่าหมื่นคน เชื่อว่าทุกคนก็เดือดร้อนกับสิ่งที่เกิดขึ้น   

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า สธ.เข้าใจข้าราชการกลุ่มนี้ และเห็นว่าการตั้งเกณฑ์ดังกล่าวอาจส่งผลต่อขวัญกำลังใจของบุคลากรที่ได้รับผลกระทบ จึงได้ทำเรื่องอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการ ก.พ. เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบว่า จะมีการเยียวยาผลกระทบให้ได้หรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยสอบถามไป แต่ได้คำตอบว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากออกเกณฑ์ไปแล้ว และไม่มีกฎหมายในการจ่ายเงินเยียวยาได้ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องที่มีการเรียกร้องขอออกนอก ก.พ. และให้ สธ.เป็นผู้บริหารจัดการเรื่องกำลังคนนั้น ล่าสุดทาง สธ.ได้จัดทำร่างพ.ร.บ.ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ... แล้ว แต่ก็ต้องมีการหารือกับทางก.พ. ว่าจะสามารถออกนอกระบบได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องใช้ระยะเวลาเช่นกัน