ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เตรียมขอกฤษฎีกา ขยายเวลาตอบกลับร่างพ.ร.บ.ยาใหม่ออกอีก 30 วัน เปิดโอกาสผู้เกี่ยวข้อง ส่งประเด็นที่ต้องการแก้ไขเข้ามา อย.ยืนยันไม่ได้ลักไก่เสนอร่างพ.ร.บ.ยาในช่วงการปกครองโดยคสช. แต่ผ่านการยกร่างและแก้ไขมา 17 ปีแล้ว ด้าน ผอ.องค์การเภสัชกรรม วอน ระบุชื่อ อภ.ให้ชัดเจน อภ.มีสิทธิผลิตยา นำเข้า โดยไม่ต้องขออนุญาตตามเดิม หวั่นนำเข้ายาช่วงวิกฤติได้ยาก

7 ต.ค.57 นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยภายหลังจากการเข้าหารือกับ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพยธราดล ที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข (สธ.) ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทาง อย.เพิ่งได้รับร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ....ที่ถูกส่งกลับมาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากขณะนี้ยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ในหลายๆ ประเด็น จึงได้นำเรื่องเข้ามาหารือร่วมกับที่ปรึกษา รมว.สธ. โดยสรุปจะขอกฤษฎีกาเลื่อนกำหนดส่งยืนยันร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไปอีก 30 วัน เพื่อเปิดให้มีการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาเภสัชกรรมซึ่งเป็นตัวแทนของเภสัชกร เบื้องต้นให้ส่งความเห็นกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร จากนั้นจึงจะเชิญตัวแทนของกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีส่วนได้ส่วนเสียกับพ.ร.บ.ยาฉบับดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้มีการลักไก่เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ในช่วงการปกครองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่การยกร่างและแก้ไขพ.ร.บ.ยานี้ทำมานาน 17 ปี แล้ว ตั้งแต่ปี 2542 ซึ่ง ขณะนั้นมีประเด็นที่ต้องแก้ไขอยู่ประมาณ 10-20 ประเด็น แต่เกิดความขัดแย้งจน สธ.ต้องถอนเรื่องออกมาเมื่อปี 2548 เพื่อปรับปรุงและเสนอใหม่อีกครั้งเมื่อปี 2549 ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันหลายข้อ และขณะนี้มีเรื่องที่ยังต้องแก้ไขเพิ่มเติมอีกประมาณ 2-3 ประเด็นตามที่ทางกลุ่มเภสัชกรออกมาเรียกร้อง

ด้าน นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.อภ.กล่าวว่า จากการศึกษารายละเอียดของ ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่นั้นมีบางมาตราที่ส่งผลกระทบกับกับ อภ. คือจากมาตรา 12, 13, และ 25 ของ พ.ร.บ.ยาฉบับเดิมจะกำหนดให้อภ.ได้รับการยกเว้นในการได้รับอนุญาตสามารถผลิตยาและนำเข้ายาโดยไม่ต้องขออนุญาตจากอย. แต่ร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ไม่ได้ระบุข้อยกเว้นนี้ให้กับ อภ.อย่างชัดเจน แต่มีการปรับมาใช้คำว่า หน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งอาจจะมีการตีความให้สิทธิพิเศษนี้ไม่ครอบคลุมถึง อภ. และอาจจะส่งผลกระทบในการผลิตยา การจัดหา และนำเข้ายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในภาวะวิกฤต เช่น น้ำเกลือ วัคซีนป้องกันโรค เป็นต้น จึงขอให้เพิ่มนิยามคำว่าหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้ครอบคลุมถึง อภ. เอาไว้ให้ชัดเจนเพื่อให้นำเข้ายาจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้ในภาวะวิกฤตโดยไม่ต้องขออนุญาต ทั้งนี้ยืนยันว่า อภ.ไม่ได้ใช้สิทธิพิเศษนี้เอาเปรียบผู้ประกอบการรายอื่น เพราะที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามกติกามาตลอด มีการยื่นขออนุญาตจากอย.เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ.