ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์ -ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอะไร ที่อยู่ดีๆ ก็มีข่าวว่า นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะถูกเด้งออกจากเก้าอี้ไปตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรีแทน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ร่วมเป่านกหวีดกับ กปปส. รวมถึงอยู่เคียงข้างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตั้งแต่รัฐประหารใหม่ๆ

พลันที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข ศึกใหม่ภายในกระทรวงหมอแห่งนี้เริ่มต้นอีกครั้ง

เริ่มจากวันที่เริ่มมีการประกาศชื่อทีมที่ปรึกษา รมว.และ รมช.สาธารณสุข อันมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ อดีตนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้มากบารมีใน สธ.อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าหมอสุวิทย์นั้นใกล้ชิดทั้งกับ นพ.ประเวศ วะสี กว้างขวางกับกลุ่มแพทย์ชนบทและมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรอิสระในสังกัดสธ. หรือองค์กรตระกูล ส. ยิ่งสะท้อนชัดว่าเบื้องหลังของทั้งสองรัฐมนตรี คือ ขั้วตรงข้ามกลุ่มประชาคม สธ. อันเป็นขุมกำลังสำคัญของฝ่ายหมอณรงค์

ภาพที่เห็นชัดก็คือ ตลอด 2 เดือนของการนั่งเก้าอี้ที่กระทรวง คนที่เดินตามหมอรัชตะและหมอสมศักดิ์ ไม่มีทีมข้าราชการหรือปลัดกระทรวงเดินตามอย่างที่ผ่านมา หากแต่เป็นทีมที่ปรึกษาขั้วหมอสุวิทย์และสายตระกูล ส. ทั้งสิ้น ส่วนปลัดณรงค์นั้น หากมีกิจต้องประชุมด้วยกัน เมื่อประชุมจบก็แยกย้ายกันไป

หากจะเกริ่นถึงความขัดแย้งขณะนี้ ต้องย้อนกลับไปเกือบ 1 ปีก่อนหน้า ตั้งแต่วันที่หมอณรงค์เลือกเป่านกหวีดร่วมกับ กปปส. และตามมาด้วยการออกมาหักกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งหมอณรงค์จะรวบอำนาจการจัดการเงินในกองทุน 30 บาทรักษาทุกโรคทั้งหมด กลับมาภายใต้ร่มเงาของสธ. จนถึงห้ามให้หมอทุกคนห้ามสังฆกรรมกับสปสช. ได้สร้างความขุ่นเคืองให้กับฝั่งตระกูลส.หลายคน

แม้ก่อนหน้านี้ฝั่งแพทย์ชนบทและสายองค์กรตระกูล ส. ที่อาจจะเชียร์ปลัดณรงค์อยู่บ้างในวันที่เลือกไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่วันที่คสช.รัฐประหารล้มยิ่งลักษณ์ และมีข่าวหนาหูว่าหมอณรงค์จะคว้าเก้าอี้รัฐมนตรี อยู่ดีๆ ก็มีข่าวปล่อยออกมาจากบางฟากมาสกัดขาหมอณรงค์ว่า จะยกเลิก 30 บาท รักษาทุกโรคและให้ใช้วิธี "ร่วมจ่าย" แทน จนทำให้ต้องแก้ข่าวกันพัลวัน

ภาพของกระทรวงหมอ ที่ภายนอกเห็นว่ารวมตัวกันเข้มแข็งนั้น แท้จริงแล้วเปราะบาง เพราะปลัดณรงค์มีคนกลุ่มเดียวที่อยู่เคียงข้างเหนียวแน่น คือประชาคม สธ. ประมาณ 30 คนเท่านั้น ไม่ใช่อธิบดีและหมอทุกคนใน สธ.ขณะที่ฝั่งตระกูล ส.นั้น แม้จะมีหัวกะทิอยู่ไม่มาก แต่คนเหล่านี้คิดวางแผนซับซ้อน มีคอนเนกชั่นกับผู้มีอำนาจจำนวนมาก

จนสุดท้ายทำให้ คสช.เลือกใช้บริการฟากหมอประเวศ ผ่านสายสัมพันธ์อันดีกับ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ จนได้ทั้งรัฐมนตรีและทีมงานรัฐมนตรีเห็นหน้าค่าตากันในปัจจุบัน ขณะเดียวกันกลุ่มนี้ก็มีงานวิชาการสนับสนุนที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะนพ.สมศักดิ์ ซึ่งเคยเป็นเลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาตินั้น ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้าง สธ.มาไม่ต่ำกว่า 20 ปีผลงานสำคัญของคนกลุ่มนี้ก็คือ การดึงเงินและงานออกไปจาก สธ.จำนวนมาก จนไปโผล่ในองค์กรตระกูล ส.แทน

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมอรัชตะและหมอสมศักดิ์เอง ก็ต้องรักษาระยะห่างพอสมควรกับชมรมแพทย์ชนบท เพราะแพทย์ชนบทในยุคหลัง ถูกมองว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของผู้นำอย่าง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ เพียงอย่างเดียว มิหนำซ้ำในช่วงรัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่งตอนแรกๆ และมีชื่อ "หมอสายวิชาการ" บางคนเข้ามาเป็นทีมงาน แพทย์ชนบทถึงขั้นออกหน้าโจมตีคนกลุ่มนี้เต็มที่ ทั้งที่เคยสนิทสนมกันมาก่อน เพียงเพราะฝ่ายตัวเองไม่ได้เป็นทีมงาน จนหลายคนตีตัวออกห่าง ขณะที่หลายคนถึงกับพูดว่า ยุคนี้แพทย์ชนบทอ่อนแอที่สุด

แต่ความอ่อนแอของแพทย์ชนบทถูกเสริมด้วยความเข้มแข็งของทีมงานรัฐมนตรีและการผงาดขององค์กรตระกูล ส. จนขึ้นมากลายเป็นคู่ต่อสู้ใหม่ของขุมกำลังฝั่งปลัดแทน แต่ในวันที่มีอำนาจ คนกลุ่มนี้เลือกทำงานอย่างเงียบๆ แทนที่จะใช้ชั้นเชิงมวยวัดมาต่อสู้เหมือนอย่างที่เคยทำในอดีต แต่แน่นอน ความขัดแย้งยังคงฝังในและยังรอวันปะทุได้ทุกเมื่อ

การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 ที่ยังยืดเยื้ออยู่ขณะนี้ เป็นประจักษ์พยานที่เห็นได้ชัดถึงการงัดคานกันภายใน ระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำ เพราะเดิมที นพ.ณรงค์ ได้ทำโผโยกย้ายระดับรองปลัดฯเรียบร้อย โดยส่งคนจากขั้วรัฐบาลเก่าอย่าง นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ และ นพ.อำนวย กาจีนะ 2 รองปลัดฯ กลับไปนั่งเป็นผู้ตรวจราชการและส่งคนของตัวเองอย่าง นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการ มานั่งรองปลัดฯแทน เพื่อผลักดันงานในช่วง 1 ปีสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ

แต่สุดท้ายโผดังกล่าวก็มีอันเป็นหมัน เมื่อทีมวอร์รูมขอเบรกยับยั้งไม่เข้า ครม.ไว้ต่อเนื่องนานนับเดือน โดยที่ไม่มีใครรู้ความคืบหน้า มีเพียงฝั่งประชาคม สธ.ที่ออกมาดักคอรัฐมนตรีและทีมที่ปรึกษาว่า หากจะตั้งใครขึ้นมา ต้องมีธรรมาภิบาล และเป็นไปตามลำดับอาวุโสเท่านั้น

จนถึงขณะนี้ ทางเลือกของหมอณรงค์มีอยู่ 2 ทางเท่านั้น คือ หากดันคนของตัวเองขึ้นมาเป็นรองปลัดฯ สำเร็จ ก็อาจสร้างผลงานต่อลมหายใจในตำแหน่งปลัดได้บ้าง แต่ถ้าฝ่ายการเมืองยังยืนยันไม่เอาคนของหมอณรงค์ขึ้น ก็ชัดเจนว่าปลัดจะต้องถูกเด้งตามไปด้วยในเวลาไม่ช้าไม่นานจากนี้

นั่นจึงทำให้ได้เห็นท่าทีแปลกๆ อย่างการเดินสายบรรยายปลุกใจข้าราชการ สธ.ให้ไม่พะวงเก้าอี้ และให้ยืนบนความ "ถูกต้อง" ซึ่งคนในรู้วิเคราะห์กันว่าท่าทีนี้อาจเป็นการดิ้นเฮือกสุดท้าย ก่อนที่จะถูกฝ่ายการเมืองเอาออกจากวงล้ออำนาจ สธ.ในเวลาอันใกล้นี้

สมรภูมิในกระทรวงหมอ ยังคงรอวันที่จะปะทุได้ทุกเมื่อ และไม่มีวันที่สงบ ไม่ว่ารัฐบาลที่เข้ามาจะมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากการรัฐประหาร เพราะการเมืองภายในที่แห่งนี้เข้มข้นกว่าการเมืองภายนอกหลายเท่า

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 9 ตุลาคม 2557