ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ. เผยไทยพบผู้ป่วยเป็นโรคจิตเภทกว่า 4 แสนราย สูงอันดับ1ของผู้ป่วยจิตเวช เข้าถึงการรักษาเพียงครึ่งหนึ่งย้ำโรคนี้สามารถรักษาได้ ในปีนี้พัฒนาระบบดูแลรักษา กระจายยาให้ผู้ป่วยรับยาตัวเดิมและตัวเดียวกัน ใกล้บ้าน ที่โรงพยาบาลชุมชน 736 แห่งทั่วประเทศ และให้ อสม.เยี่ยมบ้านให้ความรู้ความเข้าใจประชาชน ย้ำผู้ป่วยโรคนี้หากกินยาต่อเนื่องจะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ ไม่เป็นอันตรายต่อบุคคลรอบข้าง

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 10 ตุลาคม ทุกปี สหพันธ์สุขภาพจิตโลก กำหนดให้เป็นวันสุขภาพจิตโลก(World Mental Health Day)เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลก รณรงค์ให้ความรู้ประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต และผลกระทบที่เกิดจากการเจ็บป่วยทางจิต ในปีนี้เน้นเรื่องโรคจิตเภทหรือโรคชิซโซฟรีเนีย(schizophrenia)เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติสามารถอยู่ร่วมได้(Living with schizophrenia)ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคจิตเภท 26 ล้านคน คิดเป็นอัตราป่วย 7 ต่อ 1,000 คนในประชากรวัยผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะเริ่มป่วยในช่วงปลายวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 15-35 ปี โดยเฉลี่ยมีผู้ป่วยเพียงครึ่งหนึ่งที่เข้าถึงบริการบำบัดรักษา และในประเทศกำลังพัฒนา ผู้ป่วยร้อยละ 90 ยังเข้าไม่ถึงการรักษา

สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยโรคทางจิตในประเทศไทย กรมสุขภาพจิตรายงานในปี 2556 พบผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด 1,152,044 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคจิตเภท 409,003 ราย มากเป็นอันดับ 1 ของผู้ป่วยโรคทางจิตเวชทั้งหมด ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยเข้าถึงบริการรักษาด้วยยาประมาณร้อยละ 50 เนื่องจากมีโรงพยาบาลจิตเวชเพียง 17 แห่งทั่วประเทศ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาระบบบริการ 2 เรื่องหลัก ประการแรกคือการเพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วย ได้กระจายยารักษาโรคจิตเภท รวมทั้งยารักษาโรคทางจิตเวชอื่นๆ เช่นยาต้านซึมเศร้า ยาคลายเครียดวิตกกังวล ยากันชัก เป็นต้น รวมทั้งหมด 35 รายการ ซึ่งยานี้เป็นตัวเดียวกับที่ใช้รักษาในโรงพยาบาลจิตเวช ให้ผู้ป่วยทุกรายเข้าถึงยา สามารถไปรับยาได้อย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน 736 แห่งทั่วประเทศ ใช้ได้ทุกสิทธิการรักษา

ประการที่ 2 ได้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือรพ.สต. ออกเยี่ยมบ้านที่มีผู้ป่วยจิตเวช ช่วยดูแลผู้ป่วยร่วมกับครอบครัว ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคจิตเวช ซึ่งโรคนี้จัดเป็นโรคเรื้อรัง รักษาควบคุมอาการได้และอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชนได้เหมือนคนทั่วไป ประการสำคัญคือผู้ป่วยต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้รับการยอมรับ ดูแลเอาใจใส่จากบุคคลในครอบครัวทำให้อาการป่วยทางจิตดีขึ้น ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สาเหตุของโรคจิตเภท เกิดจากหลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ ความผิดปกติของสมอง ความเครียด หรือการใช้สารเสพติด โดยผู้ป่วยจะมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้ตัวเองและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ไม่สนใจตัวเอง บางครั้งนั่งนิ่งไม่เคลื่อนไหว มีความคิดผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง เช่น มีอาการหลงผิด คิดว่าคนอื่นจะมาทำร้าย มีอาการประสาทหลอน เช่น หูแว่ว ได้ยินเสียงคนมาสั่งให้ทำโน่นทำนี่ ได้ยินคนมาพูดคุยกับตน ทั้งๆ ที่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น รวมทั้งเห็นภาพหลอน

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้ มี 3 วิธี ได้แก่ 1.การใช้ยา 2.การรักษาโดยใช้จิตบำบัด ซึ่งเป็นการพูดคุยให้กลุ่มผู้ป่วยได้วิเคราะห์กลับมาดูตัวเขาเอง และ3.การบำบัดทางสังคมสิ่งแวดล้อม โดยจัดกิจกรรมกลุ่มให้ผู้ป่วยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมทั้งฝึกทักษะทางสังคม เช่น การสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น รู้วิธีการสื่อสารที่ดีเพื่อไม่ให้มีการขัดแย้งเกิดขึ้น โดยเรื่องที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ ปัญหาการขาดยา หรือการลดยา รวมถึงการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ห้ามใช้อย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการทางจิตขั้นรุนแรง ญาติจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบว่า ผู้ป่วยนอนไม่หลับ หงุดหงิด มีความคิดแปลกๆ ก้าวร้าว วิตกกังวล หวาดกลัว ฉุนเฉียวง่าย ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ หรือโทร.ปรึกษา สายด่วน 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

หากมีผู้ป่วยจิตเภทอยู่ในบ้าน ต้องพยายามทำความเข้าใจ ไม่รังเกียจ ไม่ถือโทษโกรธผู้ป่วย ไม่ควรขัดแย้งหรือโต้เถียงกับผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางจิต คอยให้กำลังใจ ประคองให้กลับสู่โลกของความเป็นจริง นอกจากนี้ ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยรู้จักช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ซักผ้า ช่วยทำงานบ้านอย่างง่ายๆ รดน้ำต้นไม้ ถูบ้าน ล้างชาม หรือให้ประกอบอาชีพเดิมที่เคยทำอยู่ตามความสามารถของผู้ป่วย เช่น ค้าขาย ทำสวน หรือประกอบอาชีพใหม่ใกล้บ้านตามความสนใจและตามความถนัด ตลอดจนจัดหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำ โดยเฉพาะในเวลากลางวัน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยคิดมากและ ฟุ้งซ่าน

สำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดโรคทางจิต ขอให้ประชาชนออกกำลังกายทุกวัน เพื่อสลายความเครียดจากชีวิตประจำวัน เมื่อมีปัญหาทางจิตใจ เช่นเครียด วิตกกังวล ว้าวุ่นใจ ไม่ควรพึ่งสารเสพโดยเฉพาะเหล้า หรือยาเสพติด เพราไม่มีผลในการแก้ไขปัญหา ขอให้ปรึกษาคนใกล้ชิดที่ไว้ใจ จะเป็นการระบายทุกข์ออกไปได้ รวมทั้งการนั่งสมาธิ ซึ่งจะช่วยในการผ่อนคลายประสาทในสมองได้