ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ. เผยไทยพร้อมป้องกันอีโบลา ขั้นสูงสุด แม้ติดเชื้อยาก ยินดีทีมแพทย์ไทย ผลิตวัคซีนรักษาได้ แต่ต้องทดสอบอีกหลายครั้ง ก่อนใช้จริง เตรียมระดมส่งความช่วยเหลือ ด้านต่างๆไปยังแอฟริกาตะวันตก พร้อมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเคร่งครัดขั้นตอนปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานที่กำหนด ภายหลังมีบุคลากรสาธารณสุขในต่างประเทศ ติดเชื้อจากขั้นตอนการถอดชุดป้องกันการติดเชื้อ

14 ต.ค.57 เมื่อเวลา 14.30 น. ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล กทม. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ในวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาและเห็นชอบมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาตามที่ กระทรวงสาธารณสุขเสนอ รวมทั้งเห็นชอบแผนการส่งความช่วยเหลือด้านต่างๆ อาทิ เงินช่วยเหลือ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เพิ่มเติมให้แก่ 3 ประเทศในแอฟริกาตะวันตกคือกินี ไลบีเรีย และเซียร์ร่าลีโอนตามการร้องขอขององค์การอนามัยโลกและองค์การสหประชาชาติ 

นพ.รัชตะ กล่าวว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมีโอกาสน้อยที่จะเผชิญกับการระบาดของโรคอีโบลา แต่ว่าหน่วยงานทางด้านกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆได้เฝ้าติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด มีการออกประกาศให้โรคอีโบลา เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 และในขณะนี้มีการคัดกรองผู้ที่เดินทางไปในประเทศที่มีโอกาสติดเชื้ออีโบลาแล้ว จำนวน 2,26 ราย ซึ่งทุกรายล้วนมีสุขภาพดี

นพ.รัชตะ เปิดเผยต่อว่า ขณะนี้ได้มีการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ต่างๆ ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ เช่นองค์การอนามัยโลก (WHO) ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) โดยคณะกรรมการอำนวยการได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคระบาดไว้ 5 ด้าน คือ 1. การจัดระบบ เฝ้าระวังโรคทั้งในคนและสัตว์ 2. การดูแลรักษาผู้ป่วยและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล มีการเตรียมห้องแยกผู้ป่วยดูแลรักษา รววมถึงควบคุมการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด 3. มีการพัฒนาระบบการตรวจ ชันสูตรทางห้องปฏิบัติโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ และมหาวิทยาลัย เป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการณ์ของประเทศ สามารถตรวจยืนยันเชื้อภายใน 24 ชั่วโมง 4 ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนถึงวิธีการป้องกัน 5 บริหารจัดการแบบบูรณาการหลายภาคส่วน โดยมีศูนย์ประสานปฏิบัติการณ์ตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ประสานสั่งการเชื่อมโยงการทำงานทั้งประเทศ และ เตรียมพร้อมระบบรับส่งต่อผู้ป่วย

“โอกาสที่โรคนี้แพร่มายังประเทศไทยไม่มาก แต่เราก็ไม่ประมาท ต้องเฝ้าระวังเพราะในขณะนี้การระบาดยังรุนแรงและไม่สงบลง ซึ่งทาง WHO และองค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญเพราะถือว่าการติดเชื้ออีโบลามีความสำคัญและมีผลกระทบในประเทศต่างๆ ดังนั้นการระงับการแพร่ระบาดจึงต้องร่วมมือกัน ไม่เฉพาะ 5 ประเทศที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรง ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้เตรียมพร้อม ป้องกันและควบคุมการระบาด ของเชื้อไวรัสอีโบลา นอกจากนี้ เห็นว่าหลายฝ่ายควรจะร่วมมือกันระดมเงินบริจาค ของประชาชนชาวไทย เข้าไปช่วยเหลือประเทศที่ติดเชื้อดังกล่าวอย่างรุนแรง ซึ่งเราจะดูสถานการณ์อย่างไกล้ชิด และจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปศึกษาดูงาน มีระบบติดตามการแพร่ระบาด เพื่อเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม อยากให้ประชาชนติดตาม เพื่อทราบข้อมูลที่ถูกต้อง แม้ว่าปัจจุบันนี้ยังมีมีการติดเชื้อในประเทศไทยก็ตาม แต่เราก็ต้องเตรียมพร้อมเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ อย่างไรก้ตาม ถ้าไม่มีความจำเป็น ก็ขอให้ประชาชนเลี่ยงการเดินทางไปประเทศเสี่ยง และเมื่อกลับมาแล้ว ก้ควรมารายงานตัวและพบแพทย์ภายใน 21 วัน” นพ. รัชตะกล่าว

สำหรับกรณีที่ทางทีมงานแพทย์ ร.พ. ศิริราชประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคอีโบลานั้น นพ. รัชตะกล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับทีมแพทย์ของไทย แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยไม่มีขีดความสามารถในการจะผลิตยาเพื่อใช้เป็นจำนวนมากได้ ดังนั้นจึงได้มีการประสานกับทาง CDC และ WHO เพื่อช่วยเหลือหากมีความจำเป็นจะต้องผลิตยาออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ตัวยาดังกล่าวยังต้องผ่านการทดสอบอีกหลายขั้นตอน จึงจะสามารถมั่นใจว่าสามารถนำมาใช้กับมนุษย์ได้

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกรายงาน ณ วันที่  8 ตุลาคม 2557  มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลารวม 8,399 คน เสียชีวิต 4,033 คน หรือประมาณร้อยละ 50 โดยประเทศกินี ไลบีเรีย และเซียร์ร่าลีโอน มีสถานการณ์รุนแรงที่สุด ยังมีการระบาดในวงกว้าง  ส่วนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและสเปนที่มีรายงานบุคลากรสาธารณสุขติดเชื้อจากผู้ป่วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าอาจเกิดจากจุดอ่อนของเจ้าหน้าที่ในขั้นตอนการถอดอุปกรณ์ป้องกันตนเอง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะนำมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อถ่ายทอดให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทยเข้มงวดขั้นตอนปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานที่กำหนด  ให้พึงระวังแม้จะมีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อทีมีประสิทธิภาพ แต่ต้องใช้อุปกรณ์ให้ถูกต้องตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

สำหรับประชาชนมีส่วนสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยขอความร่วมมือหากไม่จำเป็นเร่งด่วน ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศหรือพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคอีโบลา และหากเดินทางกลับมาหรือพบเห็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากเขตติดโรคและป่วยภายใน 21 วัน ให้ไปที่โรงพยาบาลและแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบทันที เพื่อเข้าระบบเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค และหากป่วยจะได้เข้าสู่ระบบการรักษาทันที ซึ่งทั้งนี้ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาไม่ติดต่อทางหายใจ การติดต่อโดยหลักจะเป็นการติดต่อโดยการสัมผัสเลือด น้ำเหลืองหรือสารคัดหลั่ง ผู้ที่มีความเสี่ยงมากกลุ่มหนึ่งคือแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข