ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

14 ต.ค.57 ที่โรงแรมรามาการ์เด้น มีการเสวนา “การป้องกันการหกล้มและภาวะสมองเสื่อม และระบบบริการสุขภาพและสังคมใหม่เพื่อลดและชะลอภาวะพึ่งพิงสำหรับสังคมสูงวัยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ” จัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย โดยมีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณะสุข และนักวิชาการ เจ้าร่วมเสวนา

พ.ท.หญิง พญ.พัฒน์ศรี ศรีสุวรรณ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Hitap) กล่าวว่า การหกล้มในผู้สูงอายุถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ที่อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดความพิการ หรือแม้กระทั่งทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้นักวิจัยทั่วโลกพยายามหาวิธีการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ จนได้ข้อสรุปว่า ยากันล้ม ที่ดีที่สุดคือ การออกกำลังกายถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดต่อการป้องการการหกล้มในผู้สูงอายุ

ทั้งนี้การออกกำลังกายในส่วนของผู้สูงอายุในแต่ละคนมีความแตกต่างตามสภาพร่างกายของคนๆนั้น แต่ทุกคนจะอยู่บนพื้นฐานการออกกำลังกายที่ไม่หนัก หรือเป็นเพียงการออกกำลังกายระดับง่ายเท่านั้น โดยเน้นไปที่การบริหาร ข้อและเข่าเป็นต้น และข้อระวังของการออกกำลังกายของผู้สูงอายุนั้น ถ้ามีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการออกกำลังกาย และหากออกกำลังกายแล้วมีอาการ เวียนศรีษะหน้ามืด เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

นอกจากนี้ยังมีวิธีการวัดความแข็งแรงของผู้สูงอายุ ที่อาจมีความเสี่ยงที่จะหกล้มได้ง่าย มีวิธีการวัดผลอย่างง่ายดังนี้ คือการให้ผู้สูงอายุลุกขึ้นจากเก้าอี้ที่มีท้าวแขน แล้วเดินเป็นเส้นตรงระยะทาง 3 เมตร จากนั้นหมุนตัวแล้วเดินกลับมานั่งที่เดิม โดยมีการจับเวลาหากจับเวลาแล้วใช้เวลามากกว่าหรือเท่ากับ 30 วินาทีแสดงว่ามีภาวะเสี่ยงต่อภาวะหกล้ม

อย่างไรก็ตามเมื่อล้มแล้วขณะลุกก็มีความเสี่ยงไม่น้อยไปกว่ากัน ก่อนลุกควรใช้อุปกรณ์ช่วยเสริมเพื่อให้ลุกขึ้นอาทิ ไม้เท้า โครงเหล็กช่วยเดิน ต้องใช้อย่างถูกวิธี อย่างไม้เท้า ควรมีความสูงที่พอดีกับผู้ใช้ หรืออยู่ในระดับข้อมือ หรือสะโพก ขณะจับไม่เท้าข้อศอกควรอยู่ในท่างอประมาณ 15-30 องศา

พ.ท.หญิง พญ.พัฒน์ศรี กล่าวต่อว่า นอกจากการล้มที่ผลกระทบต่อสุขภาพในผู้สูงอายุแล้ว โรคสมองเสื่อมก็ถือเป็นภัยคุกคามแก่ผู้สูงอายุเช่นกัน อาการที่สังเกตได้โดยง่าย อาทิ ผู้ป่วยจะถามซ้ำๆ เรื่องเดิมๆ ลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ บางรายอาจมีอาการซัมเศร้าร่วมด้วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านสังคมเกิดเป็นความขัดแย้งภายในครอบครัวได้

ทั้งนี้ในในปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาอาการสมองเสื่อมได้ มีเพียงตัวยาที่ทำให้เกิดการชะลออาการเท่านั้น แต่มีวิธีป้องกันที่เห็นผลได้คือ การออกกำลังกาย การรู้จักคิดหรือฝึกให้เล่นเกมส์การฝึกใช้สมอง รวมไปถึงการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี อาทิ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น

ส่วนการเข้าใจผิดเกี่ยวกับการซื้อยาตามที่โฆษณาเพื่อแก้โรคสมองเสื่อมอาทิ สารสกัดใบแป๊ะก๊วย ยาลดไขมัน กลุ่ม statin รักษาโรคอัลไซเมอร์นั้น ตรงนี้อยากให้หยุดคิดสักนิดว่ามีการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ และมีข้อมูลสนับสนุนที่น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เพราะอาจทำให้เสียเงินจำนวนมากเกี่ยวการการซื้อยาชนิดนี้โดยไม่จำเป็น

พ.ท.หญิง พญ.พัฒน์ศรี กล่าวอีกว่า หากพบสัญญาณเตือนในผู้สูงอายุอาทิ มีอาการหลงๆลืมๆ มีปัญหาในการใช้ภาษา สับสนวันเวลาและวันที่ เก็บสิ่งของผิด อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม จึงควรนำตัวผู้สูงอายุไปพบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาจะดีที่สุด

ขณะที่ นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า การออกกำลังกาย ในความหมายของตนก็คือ เรามีการออกกำลังกายอยู่ทุกวัน ทั้งการกินข้าว และการแปรงฟันก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกาย แต่ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงการออกกำลังกายเพื่อกิจวัตรประจำวันเท่านั้น ไม่ถือเป็นการออกกำลังเพื่อสุขภาพ หรือแม้แต่นักกีฬาเพื่ออาชีพ ก็เช่นกัน ฉะนั้นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ต้องประกอบด้วย 4 อย่างคือ1.ต้องหนักพอสมควร2.ต้องนานพอสมควร 30 นาทีขึ้นไป 3.ต้องถี่พอสมควรวันเว้นวันเป็นอย่างน้อย 4.การออกกำลังต้องมีความอภิรมย์ จะถือเป็นการออกกังกายเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง

ด้าน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า จากผลการสำรวจการออกกำลังในผู้สูงอายุเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่า มีความล้มเหลวเป็นอย่างมาก พบผู้สูงอายุออกกำลังกายกันน้อยมาก มากสุดเพียง 3 สัปดาห์ต่อครั้งเท่านั้น ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ถือว่าไม่ผ่านเป้าหมาย จากนี้เราต้องมาช่วยกันคิดและทำอย่างไรที่จะให้ผู้สูงอายุหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง