ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันมะเร็งฯศึกษาพบเครื่อง Oncothermia ร่วมเคมีบำบัดช่วยยุบก้อนมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายได้ทั้งหมด 22% ดีกว่าใช้เคมีบำบัดอย่างเดียวที่ไม่ยุบเลย ส่วนมะเร็งตับช่วยให้ผู้ป่วยอายุยืนขึ้น 15 เดือน มากกว่าการรักษาประคับประคองที่อยู่ได้เพียง 2 เดือน ระบุใช้คลื่นวิทยุยิงจนเกิดความร้อนใส่ก้อนมะเร็ง เปิดทางยาเคมีบำบัดเข้าถึงง่ายขึ้น อนาคตเล็งขยายการรักษาในศูนย์มะเร็งทุกภาค


       

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพย์ แถลงข่าว “การใช้ Oncothermia รักษามะเร็งครั้งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน” ว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยทั่วโลกมีผู้ป่วยรายใหม่ 12.7 ล้านราย การรักษามะเร็งให้ดีจำเป็นต้องมีการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อค้นหาผู้ป่วย ร่วมกับการส่งเสริมสุขภาพ ที่สำคัญคือจะต้องตรวจวินิจฉัยให้เร็ว เพราะการรักษาแต่เริ่มแรกมีโอกาสหายขาดได้ แต่ที่ผ่านมาคนมักเข้าใจว่ามะเร็งรักษาไม่ได้ แต่การวิจัยของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ พบว่า สามารถใช้ความร้อนในการรักษามะเร็งได้ 2 ชนิด คือ มะเร็งตับ และ มะเร็งเต้านม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของไทยและอาเซียน ทั้งนี้ ถ้ามีการศึกษาประสิทธิภาพของการรักษาด้วยวิธีนี้มากขึ้นแล้วพบว่าได้ผลดี ก็จะเสนอเป็นเชิงนโยบายในการใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็ง โดยจะเริ่มศูนย์มะเร็งของกรมการแทย์ในแต่ละภูมิภาคก่อน
       
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยพบเพศชายป่วยเป็นโรคมะเร็งตับมากที่สุด ขณะที่เพศหญิงป่วยมะเร็งเต้านมสูงสุด ทั้งนี้ ปัจัยเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งตับ คือ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบและพยาธิใบไม้ในตับ จากสถิติพบผู้ป่วยมะเร็งตับที่สามารถผ่าตัดได้มีเพียง 10-15% เนื่องจากส่วนใหญ่มักมารักษาเมื่เข้าสู่ระยะที่ 3-4 แล้ว ซึ่งการรักษาในจะใช้วิธีฉีดยาเคมีบำบัด การอุดเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงมะเร็ง แต่ปัญหาคือผู้ป่วยจำนวนมากก็ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ได้ เนื่องจากมีจำนวนมะเร็งหลายก้อน มีการอุดตันของเส้นเลือดดำใหญ่ที่ไปเลี้ยงตับจากมะเร็ง หรือมีเนื้อตับไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสตับวายจากการรักษาได้ โดยเฉพาะผู้ปวยระยะท้าย จึงต้องรักษาแบบประคับประคองอาการ ส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 2-3 เดือนเท่านั้น
       
นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า สำหรับมะเร็งเต้านม จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งพบว่าหากรักษาตั้งแต่ระยะที่ 1 จะได้ผลดี มีโอกาสหายขาดได้ โดยอัตราการมีชีวิตรอดที่ 5 ปี สูงเกือบ 100% แต่อัตรารอดชีวิตจะลดลงเหลือเพียง 30-50% เมื่อป่วยอยู่ในระยะ 3 และ 4 ทั้งนี้ สถาบันฯ มีการวิจัยการรักษามะเร็งหลายวิธี เช่น การใช้ความร้อน ความเย็น เป็นต้น ซึ่งการศึกษาการรักษาด้วยความร้อนนั้นเพื่อเป็นการรักษาทางเลือก หรือร่วมรักษา มี 3 รูปแบบคือการใช้ความร้อนระดับต่ำ ปานกลาง และสูง โดยใช้ความร้อนระดับปานกลาง (Oncothermia) มาใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็ง หลักการคือจะใช้ความร้อนอุณหภูมิ 42-43 องศาเซลเซียส เฉพาะที่กับตัวมะเร็ง เพื่อให้เซลล์มะเร็งตายแบบไม่เกิดการอักเสบ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้น ซึ่งผลการศึกษาในเบื้องต้นสามารถเป็นทางเลือกหรือร่วมรักษาที่ได้ผลดี และเตรียมขยายผลการศึกษาด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาในผู้ป่วยรายบุคคล รวมถึงเพิ่มอัตราการอยู่รอดในระยะยาวของผู้ป่วย ลดโอกาสเกิดโรคซ้ำ
       
นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้ช่วย ผู้อำนวยการด้านการวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ทีมวิจัยเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ ธ.ค. 2555 ที่เลือกศึกษามะเร็งตับและมะเร็งเต้านมก่อน เพราะเป็นมะเร็งที่มีการป่วยมากเป็นอันดับหนึ่ง โดยออกแบบงานวิจัยเป็น 2 โครงการย่อยเพื่อเปรียบเทียบผลคือ 1. ศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบอัตราการยุบของก้อนมะเร็งเต้านม ระหว่างผู้ป่วยระยะที่ 3 ที่ใช้ Oncothermia ร่วมกับยาเคมีบำบัด กับผู้ป่วยระยะ 3 ที่ใช้เคมีบำบัดอย่างเดียว จำนวน 30 ราย และ 2. ศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบเวลาการมีชีวิตรอดของผู้ป่วยมะเร็งตับระยะท้ายที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่อง Oncothermia กับผู้ป่วยมะเร็งตับที่ให้การรักษาแบบประคับประคอง จำนวน 22 ราย
       
นพ.สมชาย กล่าวว่า กลุ่มมะเร็งเต้านมนั้น ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า อายุเฉลี่ย ชนิดของมะเร็ง ขนาดก้อนมะเร็งก่อนการรักษาทั้ง 2 กลุ่ม ไม่แตกต่างกัน แต่กลุ่มที่ใช้ Oncothermia ร่วมเคมีบำบัดตอบสนองจนก้อนมะเร็งหายหมดถึง 22% ส่วนกลุ่มที่ใช้เคมีบำบัดอย่างเดียวไม่มีรายใดที่ก้อนมะเร็งยุบทั้งหมด ส่วนมะเร็งตับระยะสุดท้าย พบว่า กลุ่มที่ใช้เครื่อง Oncothermia 25% มีระยะเวลาเฉลี่ยการมีชีวิตรอดกลุ่มที่ตอบสนองต่อการรักษา คือ 15.3 เดือน ผู้ที่ไม่ตอบสนองอยู่ที่ 2.7 เดือน และกลุ่มควบคุมที่รักษาแบบประคับประคองอย่างเดียวอยู่ที่ 2.2 เดือน ทั้งนี้ การทดลองทั้งหมดไม่พบผู้ป่วยรายใดมีผลแทรกซ้อนจากการรักษา ส่วนก้อนมะเร็งเต้านมที่ยุบทั้งหมดจะต้องมีการศึกษาระยะยาวว่าในเวลา 5 ปีจะกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่
       
นพ.สมชาย กล่าวว่า เครื่อง Oncothermia สถาบันฯ ได้รับบริจาคมา 1 เครื่อง ในราคา 30 ล้านบาท โดยผู้ป่วยจะนอนอยู่บนเตียงที่ด้านล่างเป็นน้ำ เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย ส่วนเครื่อง Oncothermia จะยิงคลื่นวิทยุออกมา ซึ่งจะสามารถเลือกจุดเฉพาะเซลล์ที่มีกิจกรรมการใช้น้ำตาลเยอะได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของเซลล์มะเร็งที่มีการใช้น้ำตาลเป็นจำนวนมาก จึงไม่กระทบเซลล์ปกติ โดยเมื่อยิงคลื่นวิทยุออกมาแล้วจะเกิดความร้อนขึ้นที่เซลล์มะเร็ง เซลล์ผนังของมะเร็งอ่อนและรั่ว ทำให้เซลล์มะเร็งต้องใช้พลังงานเยอะขึ้น เนื่องจากขาดออกซิเจน และช่วยให้ยาเคมีบำบัดสามารถเข้าไปทำลายก้อนมะเร็งได้มากขึ้น ทำให้เซลล์มะเร็งตายได้ง่ายขึ้นกว่าการให้เคมีบำบัดอย่างเดียว
       
“การใช้วิธีการนี้รักษาไม่มีข้อจำกัดของผู้ป่วย แต่เนื่องจากผู้ป่วยระยะเริ่มต้นมีการรักษามาตรฐาน เช่น การผ่าตัด การฉายแสง การให้เคมีบำบัดให้ผลดีอยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยระยะที่ 3 เป็นต้นไปจะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง จึงนำการรักษานี้มาใช้เป็นทางเลือกช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าผู้ป่วยรายใดใช้ประโยชน์จากการักษาวิธีนี้แล้วได้ผลก่อนนำมาใช้เป็นแนวทางการรักษาในวงกว้าง” นพ.สมชาย กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง