ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปช.สาธารณสุขเสนอปฏิรูปสามกองทุนสุขภาพมาตรฐานเดียว โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ ทั้งทำคลอด ทำฟัน จวกประกันสังคมสิทธิเดียววิ่งตามสิทธิอื่น

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว

นสพ.มติชน วันที่ 16 ตุลาคม 2557 รายงานว่า น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสาธารณสุข เปิดเผยถึงข้อเสนอในการปฏิรูปด้านสาธารณสุขว่า ในส่วนของภาคประชาชนด้านสุขภาพต่างเห็นพ้องว่า ถึงเวลาต้องปฏิรูประบบประกันสุขภาพภาครัฐครั้งใหญ่เหมือนเมื่อปี 2545 ที่เกิดกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น แต่ครั้งนี้จะต้องมีการปฏิรูปโดยให้ระบบประกันสุขภาพทั้งสามกองทุนเป็นมาตรฐานเดียวกันคือ กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ หรือบัตรทอง กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานจะต้องเหมือนกัน เช่น การคลอด ทันตกรรม เป็นต้น เพราะที่ผ่านมาการคลอดบุตร ซึ่งถือเป็นสิทธิพื้นฐานของหญิงทุกคนกลับมีความเหลื่อมล้ำกันมาก โดยเฉพาะประกันสังคม ซึ่งถือว่าได้รับสิทธิที่น้อยกว่าสิทธิอื่น

"สิทธิประกันสังคมจ่ายค่าทำคลอดรวมค่าฝากครรภ์เพียง 13,000 บาท และต้องสำรองจ่าย ทั้งๆ ที่สิทธินี้ควรจ่ายตามจริง เพราะหากบางคนไม่สามารถคลอดตามธรรมชาติได้ แต่ต้องผ่าคลอดก็ต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งไม่เป็นธรรม เพราะสิทธิบัตรทองและสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจ่ายให้ตามจริง ที่สำคัญจากการจำกัดเช่นนี้ มีหญิงตั้งครรภ์บางคนถึงขนาดประหยัดค่าใช้จ่ายไม่ไปฝากครรภ์ก็มี นอกจากนี้ ค่าทำฟัน สิทธิประกันสังคมให้เบิกได้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 300 บาท และต้องสำรองจ่ายเช่นกัน แต่สิทธิอื่นไม่ต้อง ดังนั้น การจะปฏิรูประบบสุขภาพที่สำคัญคือ ต้องให้สิทธิเหล่านี้เท่าเทียมกัน ส่วนจะเพิ่มเติมพิเศษในเรื่องค่าห้องพัก หรือการบริการใดๆ ก็ตามก็ขึ้นอยู่กับแต่ละกองทุน โดยเบื้องต้นจะต้องยกสิทธิของประกันสังคมให้เท่าเทียมให้ได้ เพราะทุกวันนี้เป็นเพียงสิทธิเดียวที่ยังวิ่งตามสิทธิอื่นๆ" น.ส.สุภัทรากล่าว

น.ส.สุภัทรา กล่าวอีกว่า ในการจะให้เป็นมาตรฐานเดียวนั้น ควรรวมทั้งสามกองทุน แต่ด้วยความเป็นจริงและตัวบทกฎหมายไม่สามารถทำได้ และการแยกกองทุนก็สามารถทำให้ได้มาตรฐานเดียวกันได้เช่นกัน โดยอยู่ที่การบริหารจัดการ ซึ่งจะมีการเสนอว่าจะทำอย่างไรให้การบริหารจัดการเป็นเพียงหน่วยงานเดียว ส่วนจะเป็นหน่วยงานใดก็คงต้องไปหารือกันใน สปช. ซึ่งจะมีการประชุดนัดแรกในวันที่ 21 ตุลาคมนี้ ก่อนจะรวบรวมยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะระบุชัดขึ้นกว่าของเดิมที่ระบุว่า ประชาชนจะต้องได้รับสิทธิการรักษาพยาบาล แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรเป็นประชาชนจะต้องได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันหมด