ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จับตาประชุม 20-21 ตค. งานชี้แจงงบสปสช. แพทย์ชนบทแฉ สสจ.ไม่อนุมัติให้เข้าร่วมประชุม อ้างอยู่ระหว่างการตกลงของสธ.และสปสช. เปิดหนังสือสปสช.ทำตรงถึงผู้ว่าฯทุกจังหวัด ขอความอนุเคราะห์ให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สธ.เข้าร่วมประชุมเพื่อรับมอบนโยบายจาก รมว.สธ.ได้ หลังจากก่อนหน้านี้สธ.ทำหนังสือตรงไปถึงผู้ว่าฯ สั่งการให้ข้าราชการสธ.ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม แต่ยังไม่สามารถดับกระแสบอยคอตการประชุมได้ ขณะที่กลุ่มไลน์สธ.วิจารณ์สปสช.ทำไม่เหมาะสม อ้างทำเกินหน้าที่ ชี้เป็นเรื่องภายในของสสจ.จะอนุมัติร่วมประชุมหรือไม่ก็ได้

18 ต.ค.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สธ. ได้มอบให้สปสช.และสธ.หารือเพื่อขยายวันประชุมชี้แจงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2558 ซึ่งแต่เดิมนั้น สปสช.กำหนดให้มีวันชี้แจงเพียง 1 วัน แต่เนื่องจาก ศ.นพ.รัชตะ ต้องการมอบนโยบายร่วมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากที่ประชุม จึงได้กำหนดให้มีการประชุมเพิ่มเป็น 2 วัน ในวันที่ 20-21 ต.ค.นี้ นั้น

มีรายงานจาก Facebook ชมรมแพทย์ชนบทว่า แม้จะมีหนังสือเชิญไปยังนพ.สสจ.ทั่วประเทศเพื่อให้เข้าร่วมประชุมดังกล่าว โดยทางทีมรมต.ได้มอบให้ สธ.เป็นผู้ทำหน้าที่เชิญประชุมในวันที่ 20 ต.ค. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบอยคอตและงดเข้าร่วมประชุมกับสปสช. แต่ก็ยังมีคำสั่งจากนพ.สสจ.บางแห่งที่ไม่อนุมัติให้บุคลากรในสังกัดเข้าร่วมประชุม โดยยังได้แคปเจอร์คำสั่งไม่อนุมัติให้เข้าร่วมประชุม ของนพ.สสจ.ร้อยเอ็ด ที่ระบุว่า “ไม่อนุมัติ เนื่องจากอยู่ระหว่างการตกลงของสธ.และสปสช.” ลงชื่อ นายสุระ วิเศษศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด 16 ตุลาคม 57

ซึ่งทางชมรมแพทย์ชนบทได้แสดงความเห็นทาง facebook เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ต่อเรื่องดังกล่าวว่า “ถือว่าขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่เหนือกว่าชัดเจน เรื่องนี้เชื่อว่าระดับที่เหนือกว่า นพ.สสจ.สั่งการแน่นอน สงสัยงานนี้ รมต.ถูกท้าทายอำนาจอีกแล้วครับ สุกงอมเต็มที่”

หลังจากนั้น ในวันที่ 17 ต.ค.facebook/ชมรมแพทย์ชนบท ก็ได้โพสต์ภาพหนังสือจากสปสช. ลงวันที่ 15 ตุลาคม 57 ลงนามโดย นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช. ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ขอความอนุเคราะห์ให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งชมรมแพทย์ชนบทได้โพสต์แสดงความเห็นว่า หากรพ.ไหนถูกสั่งการไม่ให้เข้าร่วมประชุมกับสปสช. สามารถใช้หนังสือฉบับนี้ขอผู้ว่าฯเพื่อไปราชการได้เลยครับเพื่อรับนโยบาย รมต. หาก นพ.สสจ.ท่านใดไม่อนุมัติให้เข้าประชุมก็ขอให้รายงานมานะครับ”

สำหรับการประชุมชี้แจงการบริหารจัดการงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น สปสช.ได้จัดให้มีขึ้นในทุกปี ภายหลังจากที่มีประกาศของบอร์ดสปสชเรื่องการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ ซึ่งมักจะจัดในช่วงต้นปีงบประมาณ ซึ่งในระยะหลังที่สธ. และสปสช.มีความเห็นไม่ตรงกัน การประชุมชี้แจงงบก็มักจะไม่มีผู้บริหารของสธ. ทั้งในระดับส่วนกลางและระดับจังหวัดเข้าร่วมประชุม รวมถึงระดับ รพศ./รพท. แต่ยังคงมีตัวแทนระดับ รพช.เข้าร่วมประชุม ในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่สปสช.ยังคงประสบปัญหาเช่นนี้ แม้ ศ.นพ.รัชตะ จะแก้ไขด้วยการขยายวันประชุม เพื่อมอบนโยบายของ 2 รมต.ให้หน่วยงานในสังกัด และให้สธ.เป็นผู้เชิญประชุม แต่ก็ยังมีกระแสข่าวว่า นพ.สจจ.หลายจังหวัดไม่อนุมัติให้เข้าร่วมประชุม กระทั่งสปสช.ต้องแก้ไขด้วยการทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการเพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขภายในจังหวัดเข้าร่วมประชุมได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาโดยตรง คือ นพ.สสจ.

ขณะที่ก่อนหน้านั้น ใน Facebook/กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 10 ต.ค.57 ได้โพสต์ภาพหนังสือจากกระทรวงสธ. ลงนามโดยนพ.วชิระ เพ็งจันทร์ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งการให้ข้าราชการในสังกัดสธ.ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

ขณะเดียวกัน มีการเปิดเผยข้อความในกลุ่มไลน์ ระบุว่าจาก นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ที่อ้างถึงหนังสือของสปสช.ที่ทำถึงผู้ว่าราชการจังหวัดว่า อำนาจในการเดินทางออกนอกจังหวัดเป็นของผู้ว่าราชการ ดังนั้นบุคลากรสธ.จึงสามารถเดินทางมาได้โดยไม่ต้องกังวลคำสั่งห้ามเข้าร่วมประชุมดังนี้

“เรียนทุกท่านครับ สปสช.ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดว่า การประชุมวันที่ 20-121 ต.ค.(จันทร์-อังคารนี้)เป็นการชี้แจงนโยบายของรมต.ทั้ง  2 และผู้บริหารทุกส่วน ดังนั้นอำนาจการเดินทางออกนอกจังหวัดเป็นของผู้ว่าครับ พวกเราจึงสามารถเดินทางมาได้ครับ ไม่ต้องกังวล และหากเป็นไปได้ สามารถมาได้รพ.ละ 2 คน คือ ผอ.และหัวหน้างานประกัน(สปสช.รับดูแลค่าใช้จ่ายการเดินทางให้) หากผอ.รพ.มาไม่ได้ก็ให้ส่งผู้แทนหรืออย่างน้อยหัวหน้างานประกันมาแทนครับ ฝากตัวแทนจังหวัดแจ้ง รพช.ทุกแห่งด้วยับ ชวนกันมาแยะๆครับ เพื่อไปช่วยสะท้อนปัญหาให้รมต.ทั้ง 2 ฟัง ว่าท่านทุกข์จากการใช้ MOC, FTE, P4P, การบรรจุข้าราชการ พกส. เขตสุขภาพ ฯลฯ ในช่วง 2 ปี อย่างไรครับ”

อย่างไรก็ตาม การทำหนังสือของทั้ง 2 หน่วยงาน คือ สปสช. และสธ. ที่ทำถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้ข้าราชการสังกัดสธ.เข้าร่วมประชุมการชี้แจงงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำปีงบประมาณ 2558 ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มไลน์ของบุคลากรสธ.ว่า ทำขึ้นเพื่อต้องการสกัดคำสั่งของสสจ.ที่ไม่อนุมัติให้เข้าร่วมประชุม และมองว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นเรื่องภายในของสธ.เองที่จะอนุมัติให้บุคลากรในสังกัดเข้าร่วมประชุมหรือไม่ก็ได้ จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่ทั้งสปสช. และสธ.จะต้องทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการ การทำเช่นนี้ยิ่งจะทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น