ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.ชี้ยุครัฐบาล คสช. ต้องเดินหน้า 3 เรื่อง 1.ธรรมาภิบาล โยกย้ายข้าราชการ จัดซื้อจัดจ้าง ไม่โกงเวลาราชการ ตั้งคกก.ทุกภาคส่วนตรวจสอบการใช้งบสาธารณสุขทั้งของสปสช. 1.4 แสนล้าน และของก.สธ. 8 หมื่นล้าน 2.เดินหน้าเขตสุขภาพกระจายอำนาจให้พื้นที่ สธ.ต้องเล็กลงทำหน้าที่กำกับเท่านั้น แต่หน่วยบริการต้องรวมเป็นเขตสุขภาพประชาชน 3.กลไกใช้งบสาธารณสุข จะเอาเงินนำงาน หรืองานนำเงิน ย้ำไม่มีความคิดนำดึงเงินมาที่สธ. แต่ให้จัดสรรผ่านเขตสุขภาพ

20 ต.ค.57 ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรในกำกับ เพื่อถ่ายทอดและขับเคลื่อนนโยบายของสธ.สู่การปฏิบัติในพื้นที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) อภิปรายแนวทางบูรณาการและการขับเคลื่อนนโยบาย คสช. นโยบายรัฐบาล และนโยบาย รมว.- รมช.สาธารณสุข ว่า ในมุมมองของข้าราชการประจำเห็นว่า ข้าราชการต้องเป็นหลักในการทำงาน เพราะพวกเราคือ "ข้าราชการของแผ่นดิน" ในการดำเนินงานของเราชาวสาธารณสุขมีเป้าหมายไปสู่ "ประชาชนมีสุขภาพดี บุคคลากรมีความสุข" ซึ่ง 3 สิ่งที่รัฐบาลยุค คสช. สามารถเดินหน้าทำทันที อย่างรวดเร็ว และจริงจัง ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งมีเวลาประมาณ 1 ปี คือ

1.การสร้างธรรมาภิบาล ซึ่งก็ตรงกับหลักการทำงานของรมต.ที่ผ่านมา สธ. มีการจัดตั้งประชาคมสาธารณสุข เพื่อปกป้อง สธ. ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ที่สำคัญคือจะต้องปัดกวาดบ้าน สธ.เราไม่ให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเตรียมออกระเบียบจัดซื้อจัดจ้างใหม่ การสร้างกลไก อสม.และเครือข่ายพยาบาลเพื่อป้องกันและต่อต้านทุจริตใน สธ. การทำ Better Service เพื่อให้บริการที่ดีแก่ประชาชน ไม่มีการโกงเวลาราชการ การแต่งตั้งโยกย้าย จะมีการวางระบบและหลักเกณฑ์ นำเข้าพิจารณาใน อ.ก.พ.สป.ต่อไป

“ที่สำคัญต้องตรวจสอบการใช้งบประมาณสาธารณสุขปีละกว่า 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1.4 แสนล้านบาท และงบประมาณผ่านก.สธ. 8 หมื่นล้านบาทในรูป พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน ควรมีการตั้งคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมตรวจสอบ เพื่อให้การใช้เม็ดเงินเป็นไปตามกฎหมาย และเพื่อประชาชนจริงๆ ใช้ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ เพราะประชาชนต้องรับรู้การใช้งบประมาณดังกล่าว” ปลัด สธ.กล่าว
       

2.ปฏิรูประบบสุขภาพ จากหนังสือ "บทสังเคราะห์ข้อเสนอปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข ปี 2554" อยากเห็นระบบบริการที่รวดเร็วได้มาตรฐาน ระบบบริหารที่คล่องตัว โดยเฉพาะเรื่องการเดินหน้าเขตสุขภาพ ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างกลไกบริการสุขภาพในระดับเขต ถือเป็นหัวใจและคำตอบของระบบสาธารณสุข ทั้งนี้ สธ.ควรจะเล็กลงทำหน้าที่เป็นเพียงหน่วยงานกำกับนโยบายสาธารณสุขของประเทศ ส่วนหน่วยบริการต้องรวมตัวกันเป็นเขตบริการสุขภาพประชาชน เป็นการกระจายอำนาจไปยังพื้นที่ จัดการทรัพยากรร่วมกัน การช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในเขตสุขภาพ การบริหารจัดการร่วม กระจายอำนาจให้เขตสุขภาพบริหารจัดการ เกิดความเท่าเทียมในระดับเขต เพราะเขตสุขภาพใกล้ชิดประชาชนมากกว่าส่วนกลาง หรือ สธ.หรือ สปสช. การจัดบริการร่วม มีการแบ่งปันทรัพยากร    

และ 3. กลไกการใช้งบประมาณสาธารณสุข ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา จะต้องมีการประเมินการใช้งบประมาณและประชาชนได้รับบริการที่ดี แต่ขณะนี้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่าง 2 แนว คือ การใช้เงินนำระบบบริการ คือจัดบริการแล้วไปรับเงิน และแนวคิดใช้การให้บริการนำการเงิน โดยให้มีการจัดบริการแล้วระบบการเงินเข้าไปหนุนเสริม เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่คนใน สธ. ต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการตามแนวคิดใด และในการเจรจาร่วมระหว่าง สธ. และ สปสช. ในเรื่องการเงินการคลังต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริงใจที่จะร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม สธ. ไม่เคยมีความคิดที่จะนำเงินเข้ามาไว้ที่ สธ. แต่ให้ไปจัดสรรผ่านเขตสุขภาพไปตามหน่วยบริการให้ถูกต้องเหมาะสม และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการที่เอื้อต่อการจัดระบบบริการ

ทั้งนี้ ภายหลัง นพ.ณรงค์ พูดจบได้มีข้าราชการจำนวนหนึ่งลุกขึ้นยืนปรบมือ