ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

2 รมต.สธ. หมอรัชตะ-หมอสมศักดิ์ ยอมรับสธ.มีความขัดแย้ง เป็นเรื่องธรรมดา ทุกสังคมมีความเห็นต่าง แต่สามารถคุยกันได้ ยืนยันทำงานร่วมกับปลัดสธ.ได้ ย้ำไม่เคยคิดจะปลดปลัดณรงค์แน่นอน เห็นด้วยเดินหน้าเขตสุขภาพ ชี้มีข้อดี ส่วนชมรมแพทย์ชนบทคัดค้านต้องมาคุยกัน ยันที่ปรึกษามาจากทุกฝ่าย ไม่ได้เลือกข้าง ด้านหมอสมศักดิ์วอนสื่อสงสารคนทำงานพื้นที่ เสนอข่าวขัดแย้งกระทบคนทำงาน เกิดความสับสน แต่ก็ต้องให้บริการผู้ป่วย ชี้เวลานี้เป็นสงครามข่าวสาร อย่าเชื่อคนพูดนอกห้องประชุม

26 ต.ค.57 เมื่อวันที่ 24-25 ต.ค.ที่ผ่านมา ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงประเด็นปัญหาและความขัดแย้งระหว่างสธ. และสปสช. ตลอดจนถึงข้อกังขาว่ารมต.สธ.ทั้ง 2 คน รับฟังชมรมแพทย์ชนบทอยู่ฝ่ายเดียว ในระหว่างการลงตรวจเยี่ยมที่จ.สงขลา และจ.ปัตตานี้ โดยให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์ในเย็นวันที่ 24 ต.ค.ที่รพ.สงขลานครินทร์

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในสธ.ว่า ยอมรับว่าขณะนี้ในกระทรวงสธ.มีความเห็นต่าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกของการทำงาน ก่อนจะมารับงานในตำแหน่งรมว.สธ. ก็ทราบอยู่แล้วว่ามีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าสามารถพูดคุยกันได้ ทุกความขัดแย้งมีทางออกเสมอ และเรื่องนี้ก็คงไม่เกี่ยวกับการเมืองอย่างไร ทั้งนี้ ความเห็นที่แตกต่างย่อมมี แต่ขั้วอำนาจไม่ควรจะมีเกิดขึ้น ตนเห็นว่าความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องบริหารความแตกต่างของความคิดให้ได้ โดยเดินหน้าด้วยสันติ และข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ ไม่ใช่ความรู้สึก เวลานี้ เป็นเวลาที่ต้องสามัคคีปรองดองกัน มีความเห็นต่างก็ไม่จำเป็นที่ว่าจะตกลงกันไม่ได้ ทุกอย่างตกลงได้ และเดินหน้าด้วยกันต่อไป

ส่วนการทำงานร่วมกับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ.นั้น ก็ไม่มีปัญหาเหมือนอย่างภาพที่ออกมาทางสื่อมวลชน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติการเพื่อประชาชน ยกตัวอย่างเช่น วันจันทร์ที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็มีการประชุมกระทรวงสธ. ซึ่งผู้บริหารก็มากันพร้อมหน้าพร้อมตา มีการกำหนดนโยบายสู่การปฏิบัติร่วมกัน ในส่วนของประชาคมสธ. ผมก็ได้เรียนให้ทราบว่า จะมีการมอบของขวัญให้ประชาชน ก็มีการประชุมร่วมกัน ไม่ได้คิดเอง

เมื่อสอบถามว่า ในส่วนของชมรมแพทย์ชนบทก็ยังคงคัดค้านเขตสุขภาพ และให้ข่าวว่า รมว.สธ.และปลัดมีความขัดแย้งกัน และจะมีการปลดปลัดสธ.ด้วย ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ข่าวการปลดปลัดนั้น ถือเป็นการให้ข่าวที่ไม่จริงลงไปในสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้นขอให้ผู้รับสารมีความหนักแน่นในการพิจารณาข่าวสาร พินิจพิเคราะห์ รับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน ไม่ใช่ปล่อยข่าวแล้วเชื่อหมด  ผมยังไม่เคยได้พูดในเรื่องนี้เลย ขอยืนยันว่าไม่เคยมีความคิดที่จะปลดปลัดสธ.แต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ที่ปรึกษารมต.สธ.มาจากสายแพทย์ชนบทกลุ่มเดียวนั้น นศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ขอให้ไปดูชื่อที่ปรึกษาว่ามีใครบ้าง ทั้งหมด 49 ท่าน มี 4-5 ท่านเป็นอาจารย์มหาลัย 3-4 ท่านเป็นรพศ. มีภาคสังคม 2 ท่าน มีเอกชน อดีตปลัด การที่กลาวเช่นนั้น ตนให้พิสูจน์ด้วยการกลับไปดูรายชื่อ แล้วจะพบเองว่า มีองค์ประกอบหลากหลาย ส่วนข่าวที่ว่าชมรมแพทย์ชนบทกดดันจนต้องเปลี่ยนตัวเลขานุการรมว.นั้น ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง ชมรมแพทย์ชนบทไม่ได้มีอิทธิพลเหนือตน และตนก็ได้เลือกคนที่เหมาะสมที่สุดมาช่วยทำงาน เป็นคนที่รู้กลไกของกระทรวงสธ. ประสานงานได้ คิดว่าเลือกคนที่เหมาะสมที่สุดมาแล้ว

“เราเข้ามาในสธ.ไม่ได้อยู่ข้างใดข้างหนึ่ง เข้ามาทำงานเพื่อมอบสุขภาพดีให้ประชาชน สิ่งที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่น ใช้งานเป็นเครื่องพิสูจน์ ผมมาเยี่ยมหน่วยบริการของสธ.ก็พร้อมหน้าพร้อมตา ไปเยี่ยมรพช. รพศ. ทุกฝ่ายก็ปรึกษาหารือร่วมกัน เพื่อจะเดินไปข้างหน้าร่วมกัน ใช้เวลาและงานเป็นเครื่องพิสูจน์ และมาพูดจากัน ส่วนความเห็นต่างเรื่องการจัดสรรงบประมาณนั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ให้บริการ กับผู้จัดสรรงบ แต่เราคุยกันได้ วันนี้ก็เชิญเลขาธิการสปสช. มาพูดกับฝ่ายปฏิบัติของสธ. แนวทางใดก็ดีสามารถปรับได้ ขึ้นอยู่กับว่าข้อเท็จจริงอย่างไร ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร ขอให้ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และที่ผ่านมาก็มีการปรับแล้วในเชิงหลักการ เม็ดเงินที่ลงไปในหน่วยบริการเพิ่มขึ้น 80% แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาทุกครั้งที่เกิดความเห็นต่าง ส่วนใหญ่ชมรมแพทย์ชนบทมักจะไม่เข้าร่วมเจรจา ครั้งนี้หากชมรมแพทย์ชนบทไม่ยอมมาพูดคุยอีก จะทำอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องเขตสุขภาพ ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ถ้าชมรมแพทย์ชนบทไม่มาตนก็จะไปเยี่ยมเค้า เชิญมาเค้าก็น่าจะมา เพราะเวลานี้ต้องสามัคคีปรองดองเพื่อการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่ต้องมาเกิดความแตกต่างจนเกิดเป็นประเด็นขึ้นมา เราต้องมอบสิ่งที่ดีให้ประชาชน

“เขตสุขภาพ เป็นแนวทางที่ดี เราอยากจะเห็นว่า ทั้งองคาพยพในหน่วยบริการสุขภาพที่มีอยู่ สามารถที่จะให้เขตสุขภาพของทุกภาคส่วนลงไปบริการประชาชนได้ ตัวอย่างวันนี้เห็นชัดเจน และเราอยากเห็นให้เกิดขึ้น ยกตัวอย่างผู้ป่วยหัวใจ รพ.หาดใหญ่รับคนเดียวไม่ไหว เรามีการประสานงานกับหน่วยบริการที่มีอยู่ในพื้นที่ ทั้ง รพ.มอ. (รพ.สงขลานครินทร์) และยังมีภาคเอกชนเข้ามาร่วม รพ.กรุงเทพ-หาดใหญ่ และเราก็ยังขยายไปใช้ศักยภาพ รพ.ตรัง รพ.ยะลา ซึ่งอยู่ในเขต 12 เดียวกัน เราอยากใหเกิดความเบ็ดเสร็จในเขต

หรือยกตัวอย่าง โรคหลอดเลือดสมอง เมื่อเกิดแล้วจะทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้ป่วยต้องการดูแลระยะยาว รพ.ตติยภูมิอย่างรพ.หาดใหญ่รับไม่ได้หรอก ทุกวันนี้เตียงล้น และต้องรับผู้ป่วยหนัก ดังนั้น คนไข้ที่ต้องฟื้นฟูสมรรถภาพต้องเชื่อมโยงเครือข่ายกับรพช. ซึ่งเป็นหน่วยบริการที่ใกล้ชิดชุมชน มีรพ.สต.ดูแลเยี่ยมบ้านด้วย รวมถึงอสม. ซึ่งเราจะเห็นภาพว่าตั้งแต่หน่วยเล็กที่สุดคือ รพ.สต. เชื่อมโยงรพช. รพศ. รพท. เชื่อมกับรพ.มหาลัย รพ.เอกชน ก็จะเชื่อมโยงเข้าด้วยกันในเขตสุขภาพ นี่คือกรอบของเขตสุขภาพ คือใช้ทุกองคาพยพ ทั้ง สธ. สปสช. สสส. สช. อปท. อบต. ภาคสังคม มาช่วยกันสนับสนุน ขับเคลื่อนทุกภาคส่วน เพื่อมอบสุขภาพดีให้ประชาชน แต่กลไกการเงินจะสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น เราคุยได้ ผมขอเรียนว่า ความเห็นต่างนี้เกิดจากความหวังดีของทุกฝ่าย เราก็คุยกัน อยู่ในแวดวงที่เราบริหารจัดการได้” รมว.สธ.กล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนที่บอกว่า ชมรมแพทย์ชนบทจะไม่ยอมมาคุยนั้น ตั้งแต่เป็นรมช.สธ.มา ก็ยังไม่เห็นว่าชมรมแพทย์ชนบทจะไม่มาคุยในกรณีมีความเห็นต่าง ส่วนประเด็นความเห็นต่าง ซึ่งโจทย์ที่สองฝ่ายพูดเรื่องเงิน ทั้ง สธ.และสปสช. เห็นว่าไม่น่าจะยาก เพราะมีทั้งทฤษฎี กรอบคิด นโยบาย เป็นตัวนำอยู่แล้ว เมื่อคุยกันแล้วก็น่าจะสรุปได้ ทำให้ฝ่ายต่างๆ สบายใจ ทำงานต่อไปได้ เรื่องพวกนี้มีรายละเอียดเยอะ การพูดกันไปเรื่อยๆ ไปคนละทาง การคุยจะลำบาก แต่น่าจะหาข้อสรุปร่วมกันได้ไม่ยา

ตัวอย่างที่คุยกันเยอะ เช่น เรื่องส่งต่อ จะมีกติกา เงื่อนไขการจัดการการเงินอย่างไร นี่เป็นโจทย์ใหญ่ เราอยากให้ระบบเข้มแข็งทำอย่างไร หรือระบบปฐมภูมิเข้มแข็ง เพื่อให้ดูแลชาวบ้านได้ใกล้ชิด จะทำอย่างไร ทั้งหมดนี้ มีวิธีคิดและประสบการณ์อยู่แล้ว รวมถึงการคิดเรื่องบทบาทชาวบ้าน ที่กองทุนตำบลก็ไปได้ไกล ชาวบ้านมีส่วนร่วม ในระยะยาวจะไปเอาเงินจากที่ไหนได้บ้าง เช่น เอางบท้องถิ่นมาใส่ อาจจะเป็นนหน้าที่ของรมต.ที่จะคุยกับรมว.มหาดไทย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ถ้าเอาของเดิมมาดู และตัดสินใจร่วมกันว่าจะก้าวไปสู่อีกขั้นอย่างไร เช่น กรณีงบลงทุน เราไปรพ.หาดใหญ่ เห็นผู้ป่วยล้นมานอนริมระเบียง เรารู้ว่างบเหมาจ่ายรายหัวไม่ใช่งบลงทุน ถ้าเอามาใช้ก็กระทบงบใช้บริการ เพราะมีภาระค่าตอบแทนบุคลากรที่เพิ่มขึ้น ตรงนี้เป็นความอึดอัดของหน่วยบริการ สถานที่คับแคบ ก็อยากให้บริการดีขึ้น แต่เอางบรายหัวมาใช้ดีหรือไม่ ก็ต้องไปหารือกับรัฐบาลเอางบลงทุนมาเพิ่ม อันนี้เป็นตัวอย่าง ของพวกนี้ถ้าคุยกันได้ไม่ยาก

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามประเด็นการแยกงบเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว นพ.สมศักดิ์ ตอบว่า ประเด็นนี้ตนไม่แน่ใจว่าในประเทศอื่นแก้ปัญหางบเงินเดือนในระบบราชการอย่างไร ประเทศไทยพยายามที่จะหาทางออกในเรื่องนี้มาเป็นระยะ แต่ก็ยังไม่ลงตัว ถ้าเราทำได้ถึงขั้นที่ว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่ซื้อบริการ สามารถซื้อบริการโดยไม่ต้องห่วงว่าหน่วยบริการนั้นจะจ้างคนอย่างไร จะทำได้หรือไม่ แต่ของไทยในงบเหมาจ่ายรายหัวรวมงบเงินเดือนบุคลกรอยู่ด้วย ทำให้การปฏิบัติลำบากขึ้นเยอะ แต่ถ้าแยกงบเงินเดือนน่าจะดี แต่ก็ต้องมาคิดว่าในส่วนของงบตอบแทนที่มากกว่าเงินเดือนจะทำอย่างไร ส่วนงบลงทุนเห็นว่าไม่ควรอยู่ในงบดำเนินการ เพราะทำให้กระทบกับงบการบริการ ส่วนว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้เมื่อไหร่นั้น ก็ยังตอบไม่ได้ เพราะตัวเลขงบประมาณที่ใช้ในการนี้ไม่ใช่น้อย

สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งในขณะนี้ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้ตนขอตอบในฐานะของคนทำงานปฏิรูปว่า ขอให้สงสารคนทำงานในระบบสุขภาพในชนบท ซึ่งทำงานเต็มที่และอยากเห็นทิศทางการทำงานที่ดี เวลาฟังข่าวสับสนก็มีความทุกข์

“พวกเราก็ช่วยหน่อยในฐานะสื่อ ขอให้การสื่อสารช่วยลดความสับสน มีการพูดคุยกัน มีกลไกตัดสินใจร่วมกัน เวลามีคนมาพูดนอกที่ประชุม ก็อย่าไปช่วยสื่อ อย่างที่บอกว่าที่ปรึกษารมต.ประกอบด้วยใคร เราเช็คข้อมูลดูก็น่าจะรู้ข้อเท็จจริงแล้ว ช่วงที่ผ่านมามีการช่วงชิงทำสงครามข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นขอฝากด้วย ภารกิจนี้ไม่ง่าย แต่ให้นึกถึงคนทำงาน ภายใต้ความขัดข้องและกติกาที่ยังไม่ลงตัว แต่เขาก็ยังทำงานไปได้เรื่อยๆ อยากให้เกิดการสื่อสารที่จริง เพื่อจะทำให้เขาทำงานได้ชัดเจนขึ้น” นพ.สมศักดิ์ กล่าว