ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : หมอเกรียงศักดิ์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ชี้ปลัดสธ.ตั้งกุนซือเป็นคนจากอำนาจเก่าที่เคยจะรื้ออำนาจของสปสช. ตั้งใจชนกับทีมที่ปรึกษาของรมว.รัชตะ ด้านหมอวินัย อดีตปลัดสธ.ปฏิเสธ เชื่อปลัดณรงค์ไม่ได้ตั้งทีมมาชนกับรมต. แต่เพื่อมาเสริมทีมการทำงานมากกว่า ขณะที่หมอวัลลภ อดีตปลัดสธ.ยืนยันทีมที่ปรึกษาของปลัดณรงค์เพื่อมาช่วยกันทำงาน แจงคุ้นเคยกับทีมของรมต.ดี เชื่อต่อไปปนี้ทิศทางการทำงานจะดีขึ้น

นสพ.มติชน วันที่ 27 ต.ค.57 รายงานข่าวว่า จากกรณีชมรมแพทย์ชนบทออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในลักษณะโจมตี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนานโยบายและการบริหารสำนักงานปลัด สธ. และที่ปรึกษาคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งล้วนเป็นอดีต ผู้บริหาร ทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ปลัด สธ. รองปลัด สธ. และอดีตอธิบดีกรมต่างๆ ใน สธ. โดยมองว่าเป็นการแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อชนกับทีมที่ปรึกษาของ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. ที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มก๊วนของหน่วยงานตระกูล ส. และกลุ่มแพทย์ชนบท แม้ นพ.รัชตะจะออกมาปฏิเสธไปแล้วก็ตามนั้น

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวของปลัด สธ. เห็นชัดว่าเป็นเกมการเมือง เป็นการตั้งมาชนกันกับทีมที่ปรึกษาของ นพ.รัชตะ ส่วนที่มีการอ้างว่าจัดตั้งขึ้นเพื่อให้การดำเนินการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในรูปแบบเขตสุขภาพมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นนั้น จริงๆ ไม่จำเป็น เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยพูดไว้แล้วว่าเขตสุขภาพจะต้องเป็นในรูปเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นผู้นำหารือในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในช่วงเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นการประชุมที่มีทุกภาคส่วน โดยมีภาคประชาชนเป็นหลัก จะทำให้เห็นถึงปัญหาและแนวทางระดับพื้นที่อย่างแท้จริง ดังนั้น ทุกอย่างมีกระบวนการตาม ขั้นตอนอยู่แล้ว จึงไม่เข้าใจว่าปลัด สธ.จะตั้งทีมที่ปรึกษามาเพื่ออะไร ถ้าไม่ได้หวังชนกับทีมรัฐมนตรีว่าการ สธ.

ทั้งนี้ นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า "ท่าทีของปลัด สธ.เห็นชัดว่าต้องการยื้ออำนาจของตัวเอง ทั้งๆ ที่เรื่องการจัดสรรงบประมาณลงโรงพยาบาลต่างๆ นั้น ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำมานานแล้ว และมีการจัดสรรตามจริง โดยเฉพาะโรคราคาแพง เช่น การผ่าตัดหัวใจ หากให้เพียงเงินเหมาจ่ายรายหัว หลายโรงพยาบาลคงไม่อยากทำ เพราะต้นทุนสูง ไม่ใช่ว่าไม่รักษาคนไข้ แต่มีปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ไม่มีเครื่องมือทันสมัยในการรักษา ก็ต้องส่งต่ออีก แต่เมื่อ สปสช.มีการจัดงบพิเศษอีกก้อน เพื่อการผ่าตัดรักษาโรคราคาแพง โดยโรงพยาบาลไหนให้บริการก็จะได้รับงบก้อนนี้ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่า แต่ปลัด สธ.ต้องการให้ปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณใหม่ โดยต้องการให้เขตสุขภาพมีอำนาจในการควบคุมเม็ดเงิน ซึ่งการทำแบบนี้ถือว่าไม่ใช่การกระจายอำนาจอย่างแท้จริง แต่เป็นการขยายอำนาจของตัวเอง ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ชัดเจนว่าทำไม่ได้ เพราะการจัดสรรงบตามกฎหมาย สปสช.จะดูแล และมีคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังของ สปสช.พิจารณาอยู่ ส่วนปลัด สธ.ทำหน้าที่เพียงเสนอข้อคิดเห็น ซึ่งหลายฝ่ายก็ไม่เห็นด้วย"

ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวต่อว่า ทีมที่ปรึกษาที่แต่งตั้งขึ้นมาก็เห็นชัดว่าล้วนเป็นคนอำนาจเก่าที่ต้องการรื้อระบบ สปสช.ต้องการดึงอำนาจกลับคืนกระทรวง ทั้งๆ ที่เมื่อมีหน่วยงาน ส.ต่างๆ กลับทำให้การทำงานบรรลุจุดประสงค์มากขึ้น เพราะงานกระทรวงมีบริบทต่างกัน โดย สปสช.ทำเพื่อประชาชนให้เข้าถึงสิทธิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดตั้งเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นฝ่ายวิชาการ ทำการศึกษาวิจัยต่างๆ โดยทั้งหมดแยกหน้าที่ชัดเจน แต่ไม่ใช่ว่า สธ.จะไม่มีหน้าที่อะไร ก็ยังคงเป็นส่วนกลางในการดูแลโรงพยาบาลในสังกัด สธ. ซึ่งเป็นหน่วยบริการที่ให้บริการสาธารณสุขส่วนใหญ่ของประเทศ

นพ.วินัย วิริยกิจจา อดีตปลัด สธ. หนึ่งในทีมที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนานโยบายและการบริหารสำนักงานปลัด สธ. กล่าวชี้แจงว่า การตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาใครๆ ก็สามารถตั้งได้ รัฐมนตรีว่าการ สธ.ก็ตั้งได้ การที่ นพ.ณรงค์ตั้งทีมที่ปรึกษาก็เหมือนเป็นการทำงานเสริมกับฝ่ายการเมืองคือรัฐมนตรีว่าการ สธ. ดังนั้น ที่ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องการเมือง ตั้งทีมมาชนกัน ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะหากพูดว่าการเมืองก็ต้องหมายถึงฝ่ายรัฐมนตรี ที่เป็นฝ่ายการเมือง แต่ฝ่ายข้าราชการประจำทำงานตามหน้าที่ของข้าราชการประจำ ดังนั้น ในบทบาทหน้าที่ต้องให้ถูกจุดด้วย จริงๆ แล้วไม่ได้อยากยุ่งเกี่ยวเรื่องปัญหาในกระทรวง แต่ที่มาทำงานครั้งนี้ก็เพื่อมาให้คำแนะนำในเรื่องการเดินหน้านโยบายต่างๆ โดยเฉพาะเขตสุขภาพ เนื่องจากก่อนหน้านี้ที่ยังไม่เกษียณ ก็เคยทำงานด้านการบริหารจัดการในรูปแบบเขต ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะแต่ละระดับจะมีหน้าที่ของตนเอง ทั้งส่วนกลาง ที่ดูแลภาพรวมทั้งหมด ส่วนเขตจะดูแลระดับจังหวัด จังหวัดก็ดูแลระดับอำเภอ และอำเภอก็ดูแลระดับตำบลไปจนถึงระดับหมู่บ้าน ชุมชน ซึ่งถึงประชาชนแน่นอน

"ส่วนปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ได้ข้อสรุปนั้น จริงๆ ต้องมาพูดคุยกันถึงข้อดี ข้อเสีย หากวิธีไหนดีทุกกระทรวงก็ต้องปฏิบัติเหมือนกันหมด เพื่อให้เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ดังนั้น เรื่องนี้หากเปิดใจทุกอย่างก็จบ" นพ.วินัยกล่าว

ขณะที่ นพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. และอดีตปลัด สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายและการบริหารสำนักงานปลัด สธ. กล่าวว่า เป็นการคิดกันเองว่า นพ.ณรงค์ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชนกับทีมรัฐมนตรีว่าการ สธ. ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริงโดยส่วนตัวรู้จักและทำงานร่วมกับ นพ. รัชตะมาตั้งแต่โครงการแก้ปัญหาขาดสารไอโอดีนในคนไทย และแต่ละคนในทีมที่ปรึกษาของ นพ.รัชตะ ก็รู้จักและคุ้นหน้าคุ้นตากันดี ที่เข้ามาช่วยงาน นพ.ณรงค์ก็เพราะต้องการให้ระบบสาธารณสุขเดินหน้าไปในทิศทางถูกต้อง โดยต้องปรับระบบบริหารให้ถูกจุดและเป็นรูปธรรม ให้มีผลงานถึงประชาชนอย่างแท้จริงในปี 2558 ส่วนปัญหาภายในกระทรวงจะเป็นอย่างไร ไม่ขอออกความเห็น เพราะแต่ละฝ่ายก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องการกระจายงบประมาณที่เป็นประเด็นอยู่ว่าจะจัดสรรในรูปแบบของ สปสช.หรือจะเป็นรูปแบบเขตสุขภาพ ซึ่งก็รู้จักกับ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. หากไม่ได้ข้อยุติก็จะเข้าไปร่วมหารือด้วย เพื่อให้ได้ข้อยุติที่ลงตัว และสามารถกระจายงบไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อ นพ.รัชตะและ นพ.ณรงค์ เพื่อสอบถามถึงกรณีที่เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถติดต่อได้

ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 27 ตุลาคม 2557