ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ. เผยผลตรวจทางห้องปฏิบัติการชายต่างชาติเดินทางมาจากประเทศดีอาร์คองโก ผลตรวจครั้งแรก ไม่พบการติดเชื้ออีโบลา ขณะนี้ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในสังกัดในกทม. อาการวันนี้ดีขึ้น ไม่มีไข้ ถ่ายเหลวน้อยลง วางแผนเจาะเลือดตรวจซ้ำวันศุกร์นี้               

วันนี้ (29 ตุลาคม 2557) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าสถานการณ์การเฝ้าระวังโรคอีโบลาในประเทศ ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รับผู้ป่วยเป็นชายชาวต่างชาติ อายุ 33 ปี เดินทางมาจากประเทศคองโกถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2557 ซึ่งได้รายงานตัวผ่านการตรวจคัดกรองจากเจ้าหน้าที่ประจำด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมบันทึกประวัติ ที่อยู่ครบถ้วน ตามระบบติดตามเฝ้าระวัง โดยผู้เดินทางรายนี้ไม่มีไข้ในที่เดินทางมาถึง แต่หลังจากเข้ามาพักในประเทศไทยในวันที่ 27 ตุลาคม 2557 มีอาการ ถ่ายอุจจาระเหลวและมีไข้ จึงได้โทรแจ้ง 1422 กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับตัวเข้าสังเกตอาการในโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงฯ ที่อยู่ในกทม. ให้การดูแลตามมาตรฐาน และจะติดตามผู้สัมผัสจำนวน 18 คนเป็นเวลา 21 วันเช่นกัน               

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ได้เก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการครั้งแรกที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลการตรวจไม่พบการติดเชื้อไวรัสอีโบลา รวมทั้งได้ตรวจหาการติดเชื้อมาลาเรีย และไข้เลือดออก ผลไม่พบเชื้อเช่นกัน ในเช้าวันนี้ ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ ถ่ายอุจจาระน้อยลง ช่วยเหลือตัวเองได้ดี ทีมแพทย์วางแผนเจาะเลือดตรวจหาเชื้อไวรัสอีโบลาอีกครั้งหนึ่งในวันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม 2557 เพื่อความมั่นใจ ส่วนผู้สัมผัสทั้งหมดทุกคนสบายดีผู้เดินทางรายนี้แม้มาจากประเทศดีอาร์คองโก แต่มาจากจังหวัดที่อยู่ห่างไกลจากจังหวัดอีเควเตอร์ ซึ่งเป็นเขตติดโรคถึง 400 กิโลเมตร                

ด้านนพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรการการเฝ้าระวังที่ไทยดำเนินการอยู่นี้ เป็นระบบการตรวจจับอีโบลาที่มีประสิทธิภาพ และสามารถติดตามผู้ที่เดินทางจากทุกพื้นที่ที่เป็นเขตติดโรคมีระบบการประสานงานดูแลติดตามระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กทม. และจังหวัดต่างๆ ในภูมิภาค ผลการตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศวานนี้ (28 ตุลาคม 2557) มีจำนวน 22 คน ไม่มีรายใดมีไข้ ยอดการตรวจสะสมตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2557 เป็นต้นมา รวมทั้งหมด 2,545 คน ส่วนใหญ่มาจากไนจีเรีย 1,285 คน รองลงมาคือกินี 789 คน คองโก 163 คน โดยร้อยละ 97 เดินทางมาโดยเครื่องบิน ที่เหลือมาโดยเรือและรถยนต์               

สำหรับที่ด่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับการท่าอากาศยานติดตั้งเครื่องตรวจวัดไข้ 6 เครื่อง จัดจุดจอดเครื่องบินที่มาจากพื้นที่ระบาดเป็นการเฉพาะ เพื่อให้สะดวกต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการตรวจคัดกรองผู้โดยสารโดยจะตรวจผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดตามประกาศเขตติดโรคของกระทรวงสาธารณสุขในทุกเที่ยวบินและจะคงมาตรการต่อไป หากผลการตรวจคัดกรองพบว่าผู้เดินทางคนใดมีไข้ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป จะรับตัวเข้าดูแลในโรงพยาบาลที่จัดเตรียมไว้ ทั้งในกทม. และต่างจังหวัด เพื่อป้องกันเชื้อแพร่เชื้อ และจะติดตามอาการผู้สัมผัสทุกคนจนครบ 21 วันตามเกณฑ์ ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก โดยระยะที่ผ่านมายังไม่พบผู้เดินทางรายใดติดเชื้ออีโบลา