ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.เปิดใจ ไม่ได้มีความขัดแย้งในสธ. แต่มีความเห็นต่าง ยันไม่ใช่ปัญหา หาทางออกร่วมกันได้ ย้ำไม่ใช่การตั้งคกก.ตรวจสอบงบบัตรทอง แต่ต้องการติดตามและกำกับว่าตรงเป้าหมาย ใช้อย่างโปร่งใสหรือไม่ ชี้ 12 ปีที่ผ่านมา ระบบสุขภาพมีการเปลี่ยนแปลงมาก ทั้งดีและไม่ดี วันนี้ต้องทบทวนจุดไม่ดี แก้ไข แล้วเดินต่อ ยึดประโยชน์ประชาชน แจงเขตสุขภาพคือกระจายอำนาจ สธ.ต้องกระจายอำนาจบริหาร สปสช.ต้องกระจายอำนาจเงิน ประชาชนมีส่วนร่วมในเขต รับในสธ.มีความเหลื่อมล้ำ เหตุจากปัจจัยภายใน ต้องลดเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ  

29 ต.ค.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายการเจาะลึกทั่วไทย ตอน ศึกคนดีในกระทรวงสาธารณสุข ช่องสปริงนิวส์ เมื่อวันที่ 23 ต.ค.57 นายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ผู้ดำเนินรายการ ได้สัมภาษณ์ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. ในประเด็นสถานการณ์ความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) (ดูที่นี่) ซึ่งมีหลายประเด็นน่าสนใจดังนี้

นพ.ณรงค์ ได้ชี้แจงถึงประเด็นที่เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้งบประมาณของสปสช.ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า เป็นการกำกับติดตามการใช้งบประมาณตามนโยบายให้สธ.เป็นกระทรวงสีขาวของรมต. เพื่อให้ประชาชนรู้ว่านำไปใช้อย่างไรถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ดังนั้นที่มีข่าวว่าไปตั้งกรรมการตรวจสอบงบประมาณคงไม่เป็นความจริง ที่มาก็คือคิดว่างบประมาณก้อนนี้สองแสนกว่าล้านควรจะมีการติดตามกำกับให้โปร่งใสไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน 

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการปฏิรูป ใน 12 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพอย่างมาก ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เปลี่ยนการจัดสรรเงินให้รพ.จากสธ.ไปไว้ที่สปสช. ซึ่ง 12 ปีที่ผ่านมาก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย มีผลกระทบทั้งบวกและลบต่อประชาชน และเจ้าหน้าที่ เกิดวัฒนธรรมงานแลกเงิน สิ่งเหล่านี้เป็นข้อเสีย หรือ ข้อจำกัด แต่ข้อดีก็คือการที่ประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย

“สธ.มีรพ.ในสังกัดประมาณ 60-70% แต่ตอนนี้ต่างคนต่างอยู่ เพราะกลไกการเงินส่งตรงไปที่หน่วยบริการ ทำให้การมองอะไรร่วมกันน้อยลง จึงมาคิดว่า จุดแข็งของเราคือการทำงานแบบพี่น้อง การจัดระบบร่วมกัน จึงเสนอเรื่องเขตสุขภาพคือการจัดบริการรวมกันของหน่วยงานทุกระดับ เราจะทำตัวให้เป็นบริษัทเดียวกันแล้วก็จัดบริการร่วมภายในเขตเพื่อให้ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราเลยวางทิศทางเรื่องปฏิรูปเขตสุขภาพขึ้นมาหลายปีแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยและเวทีในปี 2554 เอาภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคองค์กรเอกชนต NGO มูลนิธิ มานั่งคุยกันสองวัน เห็นพร้อมตรงกันว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องเล็กลง หน่วยบริการต้องจัดบริการในรูปเขต ในอนาคตก็อาจจะบริหารเป็นเขตโดยอิสระไป”

สำหรับประเด็นการเงินการคลังระบบสาธารณสุขนั้น นพ.ณรงค์ระบุว่า ขณะนี้มี 2 แนวคิดที่อาจจะมองต่างกัน แนวคิดหลักของสปสช.คือเอากลไกการเงินการคลังนำแล้วก็จัดบริการให้สอดคล้องกับกลไกการเงินการคลัง ขณะที่สธ.ใช้หลักการองค์การอนามัยโลก การจะจัดระบบสุขภาพมีองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ใช่เรื่องการเงินการคลังอย่างเดียว มีเรื่องกำลังคน ข้อมูล เทคโนโลยี ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำ คือ ประชาชนจะได้รับบริการอะไรจากระบบ แล้วก็เงินเอาไปสนับสนุนระบบบริการ นี่คือแนวคิด 2 อันที่แตกต่างกันดังนั้นขณะนี้ผมคิดว่ามันเป็นประเด็นของการแตกต่างทางเรื่องแนวคิดเท่านั้นเอง แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีการพยายามที่จะบอกมันขัดแย้ง

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ในการเสวนาเรื่องปฏิรูปสธ.เมื่อปี 54 เห็นตรงกันว่า 1.สธ.ควรที่จะเล็กลง และต้องทำตัวเป็นผู้คุมกฎ เป็นตัวแทนรัฐที่จะดูภาคต่างๆ 2.ผู้จัดบริการ ซึ่งที่ประชุมเว้นว่าหน่วยบริการควรจะบริหารจัดการในรูปเขต และในอนาคตจะต้องไม่ขึ้นกับกระทรวง หรืออาจจะไปอยู่กับท้องถิ่น 3.กลุ่มผู้ซื้อบริการ ซึ่งขณะนี้มี ประกันสังคม สปสช. กรมบัญชีกลาง ดังนั้น ขณะนี้ทุกคนต้องกลับมาคุยกันว่าใครอยู่ในบทบาทไหนกันแน่ บทบาทของผู้ซื้อบริการก็บอกว่าต้องการอะไร แล้วก็จะจ่ายเงินอย่างไร ผู้ให้บริการก็บอกว่าด้วยกำลังคนที่มีอย่างนี้แล้วเขาจะจัดอะไรได้บ้าง และอะไรที่เราคิดว่าควรจะทำและเป็นการเจรจากัน นี่คือบทบาทที่ควรจะเป็น โดยอาจจะมีสธ.มาเป็นกรรมการกลาง แต่แบบนี้อาจไม่ลงตัว

ปลัดสธ. กล่าวว่า หัวใจสำคัญของเขตสุขภาพ คือการกระจายอำนาจ ตอนนี้อำนาจเงินกระจุกตัวที่สปสช. และอำนาจบริหารกระจุกตัวที่สธ. อนาคตทั้ง 2 ต้องกระจายอำนาจ การเงินการคลังไม่ควรจะรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง รวมถึงอำนาจบริหารหน่วยบริการด้วย แล้วแบ่งอำนาจนี้ให้เขตสุขภาพ เดิมเขตสุขภาพถูกกล่าวหาว่าจะเป็นของสธ. แต่หลังจากได้ดำเนินการมา 2-3 ปี เราเห็นว่าต้องให้ประชาชนเข้ามาร่วม เพราะเขาใกล้ชิดปัญหามากกว่าสธ. และสปสช.

“สิ่งสำคัญอีกประการคือ อยากให้เจ้าหน้าที่ในระบบที่มีกว่า 3 แสนคนทำงานอย่างมีความสุข ไม่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ การที่มีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นขณะนี้เป็นปัจจัยที่เราทำให้เกิด ซึ่งต้องแก้ไข สธ.มี 24 วิชาชีพ ส่วนเรื่องความเห็นต่างนั้น ผมไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา ความเห็นที่แตกต่าง เป็นเรื่องที่จะต้องหาทางออกร่วมกัน แต่การใช้เหตุการณ์ที่แตกต่างทางความคิดมาแปลงไปสู่การสื่อสารที่ไม่ถูกต้องผมคิดว่าไม่ควรจะกระทำ” นพ.ณรงค์ กล่าว  

เรื่องที่เกี่ยวข้อง