ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขกำชับให้ทุกจังหวัดใน 12 เขตสุขภาพ เพิ่มความเข้มแข็งระบบการเฝ้าระวังในผู้เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด รวมทั้งการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ให้ตั้งทีมปฏิบัติการ (1 ทีม ต่อ 1 เขตสุขภาพ) เพื่อชันสูตรพลิกศพ หากพบผู้เสียชีวิตนอกโรงพยาบาล ที่สงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลา และทีมผู้เชี่ยวชาญส่วนกลางอีก 1 ทีม ให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมงแก่พื้นที่ เร่งให้โรงพยาบาลใน 14 จังหวัดที่มีด่านเข้าออกระหว่างประเทศ สร้างความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย และพัฒนาห้องตรวจปฏิบัติการ รวมทั้งการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน

7 พ.ย. 2557 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมวีดีโอทางไกลร่วมกับจังหวัดแม่ข่ายเขตสุขภาพ 12 เขตสุขภาพ และกรุงเทพมหานคร ว่า การประชุมวันนี้เป็นการติดตามประเมินสถานการณ์และการเตรียมความพร้อมมาตรการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ประเด็นที่ต้องเพิ่มความเข้มแข็ง คือระบบการเฝ้าระวังโรค ซึ่งจะทำให้สามารถค้นหาผู้ป่วยหรือผู้ที่มีอาการในข่ายสงสัยได้อย่างรวดเร็ว โดยได้กำชับให้ทุกจังหวัด ดำเนินการเฝ้าระวังคัดกรองผู้ที่เดินทางมากจากพื้นที่ระบาด ทั้งทางอากาศ ทางบก ทางเรือ และในชุมชนที่มีชาวต่างชาติจากพื้นที่ระบาดอาศัยอยู่ทุกวัน โดยในวันนี้ได้ให้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังศพที่เสียชีวิตนอกโรงพยาบาลโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะชาวต่างชาติด้วย และให้ทุกจังหวัดตั้งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว เพื่อชันสูตรพลิกศพและการดูแลศพผู้เสียชีวิตที่สงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลา เขตละ 1 ทีม เพื่อประสานการทำงานร่วมกับฝ่ายตำรวจ เจ้าหน้าที่มูลนิธิการกุศล และตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางอีก 1 ทีม เพื่อเป็นที่ปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง จะทำให้ระบบป้องกันควบคุมโรค มีความรัดกุมและเพิ่มความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานมากที่สุด

ประการต่อมาคือความพร้อมของโรงพยาบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วย ในช่วงแรกนี้ได้ให้โรงพยาบาลศูนย์ 14 แห่ง ใน 12 เขตสุขภาพ สร้างความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย ทั้งเรื่องการจัดห้องแยกเฉพาะและการพัฒนาห้องตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจวินิจฉัยเชื้อ ตลอดจนระบบการควบคุมป้องกันการติดเชื้อแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย จากการติดตามในกลุ่มบุคลากรการแพทย์ในประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาและข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ส่วนใหญ่จะติดเชื้อขณะถอดชุดป้องกัน (PPE) โดยเล็บมือเป็นจุดติดเชื้อได้มากที่สุด

สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา องค์การอนามัยโลกรายงาน เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 พบผู้ป่วยใน 8 ประเทศรวม 13,042 ราย เสียชีวิต 4,818 ราย สถานการณ์การติดเชื้อและเสียชีวิตที่ประเทศกีนีคงที่ ในไลบีเรียลดลง ส่วนที่เซียร์ร่าลีโอนยังเพิ่มขึ้น สำหรับประเทศไทยผลการตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของด่านควบคุมโรคถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 รวมทั้งหมด 2,773 คน ไม่พบรายใดติดเชื้อไวรัสอีโบลา

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ประเทศที่มีการระบาด หากมีไข้ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง และให้ติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตามระบบการตรวจคัดกรองที่ด่านควบคุมโรค หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง