ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แน่ยิ่งกว่าแช่แป้ง ทุกวันนี้ “บุหรี่” มีอิทธิพลเหนือเด็กและเยาวชนแล้วโดยสมบูรณ์

ไม่ต้องกล่าวให้เห็นภาพก็คงสามารถเข้าใจได้ ทั้งแวดล้อมในครอบครัว ชุมชนรอบข้าง ตามหน้าสื่อ หรือแม้แต่ตัวละครในการ์ตูน ล้วนแต่มี “บุหรี่” รายล้อมแทบทั้งสิ้น  

ว่ากันว่า การสูบบุหรี่คือการนับหนึ่งไปสู่ยาเสพติดชนิดอื่นๆ ... สิงห์อมควันหลายรายยอมรับไปในทิศทางเดียวกันว่า “จริง”

แม้ว่าบุหรี่จะไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็พยายามคลอดเกณฑ์การควบคุม โดยล่าสุดประกาศใช้ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ขนาดใหญ่ถึง 85% ของพื้นที่ ซึ่งนับเป็นอันดับ 1 ของโลก

สำหรับโทษภัย ... คงไม่ต้องบรรยายทัณฑ์ทรมานที่ผู้สูบจะได้รับ

ทว่าสิ่งที่ สธ.ไม่เคยจะอธิบายให้สังคมเข้าใจ คือเล่ห์กลของบริษัทยาสูบข้ามชาติ และยุทธศาสตร์การรุกคืบที่ทรงพลัง

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยผลวิจัยของมูลนิธิฯ ว่า ตัวเลขของผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยทั้งหญิงและชาย นิ่งอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคน มาโดยตลอด แม้ว่าจะลดลงบ้างเล็กน้อย แต่อัตราประชากรที่เพิ่มขึ้นทำให้มีนักสูบหน้าใหม่เข้ามาเติมอยู่ไม่ขาด

กระนั้นมาตรการควบคุมยาสูบของประเทศไทย หากจำเพาะที่ “คนเมือง” ถือว่าเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่ใน “ชนบท” โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ กลับพบว่าประชาชนยังสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง นั่นทำให้ได้ข้อค้นพบถึงความแตกต่างในภูมิภาคกับการเข้าถึงการรณรงค์

“บุหรี่นำไปสู่การเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ ซึ่งประเทศไทยและทั่วโลกกำลังทำให้โรคนี้ลดลงภายในปี 2568 โดยตัวการสำคัญคือต้องลดการสูบบุหรี่ลงให้ได้ ประเทศไทยต้องกดตัวเลขผู้สูบให้ต่ำกว่า 30% ถึงจะไปตามเป้าหมายที่เราได้ตกลงกันไว้กับต่างชาติ แต่ปัญหาคือเด็กวัยรุ่นอายุ 15-18 ปี มีการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น และเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทบุหรี่ ที่จะได้ลูกค้าวัยรุ่นต่อเนื่องไปถึงวัยผู้ใหญ่” คุณหมอประกิต ชี้แจงสถานการณ์บุหรี่

ศ.นพ.ประกิต ฉายภาพต่อไปว่า การสกัดกั้นผู้สูบบุหรี่ยังคงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษี การจำกัดการทำการตลาด แต่ทางบริษัทบุหรี่ก็มีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น บุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่ชูรส ที่สุดแล้วเด็กและเยาวชนก็ตกเป็นเหยื่อ เพราะยังไม่สามารถแก้ปัญหาการนำเข้าได้

คุณหมอรายนี้ อธิบายว่า กลยุทธ์ที่สำคัญของบริษัทบุหรี่คือการ “ล่าลูกค้า” เริ่มจากอายุ 18 ปี จนมีคำกล่าวว่า วัยรุ่นวันนี้คือลูกค้าสำคัญในวันหน้า และค่าเฉลี่ยของคนเลิกบุหรี่อยู่ที่อายุ 41 ปี ดังนั้นบริษัทบุหรี่จะได้ฐานลูกค้าต่อเนื่องยาวถึง 23 ปี

อย่างไรก็ดี เมื่อแรงทัดทานจากสังคมต่อโทษภัยของบุหรี่มากขึ้น บริษัทบุหรี่หรือโรงงานยาสูบเองก็จะมีลูกเล่นที่เข้ามาคือ การทำ Corporate Social Responsibility (CSR) หรือบรรษัทบริบาล ด้วยการทำกับโรงเรียน มอบของบริจาค ทำกิจกรรม จนเกิดความผูกพัน และเพื่อกลืนสังคมนั้นๆ ให้มองและรู้สึกว่าบุหรี่ก็เป็นสินค้าธรรมดา ไม่ได้น่ากลัว

“มันอันตรายจริงๆ ดังนั้นการออกกฎหมายต้องเข้มแข็ง ห้ามบริษัทบุหรี่มาทำ CSR ไม่ให้ทำเด็ดขาด เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เขาต้องการจะปิดปากกลุ่มลูกค้าของเขาด้วยเงิน” ศ.นพ.ประกิต กล่าวชัด

ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้วก็คือไม่ง่ายเลยที่จะเลิกบุหรี่ ไม่เช่นนั้นบริษัทบุหรี่คงจะไม่ประเมินว่านักสูบ 1 คน จะเป็นลูกค้ายาวถึง 23 ปี

ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ผู้ผลักดัน “คลินิกฟ้าใส” เพื่อช่วยเลิกบุหรี่อย่างเห็นผล บอกว่า ระบบสาธารณสุขจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ โดยเฉพาะการเปิดให้ผู้ติดบุหรี่เข้าถึง“ยาเลิกบุหรี่” ได้อย่างถ้วนหน้า เช่น บรรจุยาเลิกบุหรี่เข้าไปยังชุดสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสุขภาพ

“ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ “ยาเลิกบุหรี่” ซึ่งผลวิจัยระบุว่าใช้เพียงแค่ 1-2 เดือน ก็จะช่วยให้เลิกอย่างเด็ดขาด จุดนี้ต้องทำให้คนเข้าถึงให้ได้ ก็ต้องอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขจะเล็งเห็นอย่างไร ทำให้เบิกได้ง่ายในทุกช่องทางของประชาชน เราจะลดตัวเลขของผู้สูบในประเทศไทยได้อีกมากแน่นอน” ผศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวย้ำ

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือการดำเนินการของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งลดอัตราผู้สูบบุหรี่ลงจนต่ำกว่า 20% ของประชากร ถือว่าต่ำเป็นประวัติการณ์ของโลก นอกจากนี้ประเทศญี่ปุ่นยังใช้เวลาสั้นๆ ที่จะกำเนิดคลินิกเลิกบุหรี่ โดยปัจจุบันมีถึง 1.5 หมื่นแห่งทั่วประเทศ

“เราจะไม่เห็นคนญี่ปุ่นมาสูบบุหรี่ข้างถนนแล้วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อน ขณะนี้ไปตรงไหนก็ตาม ทางเข้าอาคาร พื้นบนฟุตบาท ทางการญี่ปุ่นจะติดป้ายห้ามสูบบุหรี่แสดงเอาไว้ชัดเจน หากฝ่าฝืนก็มีโทษปรับ 2,000 เยน และเขาจะบังคับใช้กฎหมายกันอย่างจริงจัง” คุณหมอสุทัศน์ อธิบาย

ในเวทีการเสวนาวิชาการ มีการเปิดเผยตัวเลขงานวิจัยที่น่าสนใจ โดยพบว่า 70% ของสถานศึกษาทั่วประเทศ มีร้านขายบุหรี่ และกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่คือนักศึกษา

โจทย์ที่ต้องคิดให้ตกคือ ... จะหยุดยั้งไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่อย่างไร เพราะเมื่อเข้าสู่อำนาจของบุหรี่แล้ว น้อยเหลือเกินที่จะลาจากได้