ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.ร่วมกับ ม.บูรพา เปิดตัวโครงการและสถาบันพัฒนาการพยาบาลอาชีวอนามัยฯ” หนุนสร้างระบบสุขภาวะแรงงานไทย เร่งผลิตพยาบาล ป้อนนิคมอุตสาหกรรม ดูแลสุขภาพแรงงานกว่า 1.2 ล้านคน

7 พ.ย.57 นพ.วุฒิไกร ศักดิ์สุรกานต์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี กล่าวในการเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการและเปิดตัวโครงการพัฒนาการพยาบาลอาชีวอนามัยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ ภาคตะวันออก พร้อมกับเปิดตัว “สถาบันพัฒนาการพยาบาลอาชีวอนามัยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ ภาคตะวันออก”โดยมีผู้แทนสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกกว่า 100 คนเข้าร่วมประชุม ว่า จังหวัดชลบุรี และจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออก ถือเป็นพื้นที่ที่มี โรงงาน สถานประกอบการ และนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง สร้างเม็ดเงินให้แก่ประเทศอย่างมหาศาล ดังนั้นเพื่อดูแลสุขภาพแรงงานที่เป็นกำลังสำคัญในระบบอุตสาหกรรมของประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบพยาบาลอาชีวอนามัยที่ดีรองรับ เพื่อดูแลสุขภาพของแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตและแข่งขันกับต่างชาติได้

ผศ.ดร.รัชนีภรณ์  ทรัพย์กรานนท์ ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยบูรพาให้ความความสำคัญการสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อให้มีศักยภาพให้บริการสุขภาพและดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างเหมาะสมกับบริบทและการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงได้ร่วมกับ สสส. ดำเนินโครงการพัฒนาการพยาบาลอาชีวอนามัยฯ และได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาการพยาบาลอาชีว อนามัยฯ ขึ้นเมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการ สร้างมาตรฐานสุขภาวะในสถานประกอบการ โดยผลิตและพัฒนาพยาบาลอาชีวอนามัยให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาสุขภาวะแรงงานในอนาคต

รศ.ดร.นุจรี ไชยมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา  กล่าวว่า  ภาคตะวันออกมี 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และฉะเชิงเทรา ถือเป็นเขตโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) มีการขยายตัวต่อเนื่องของนิคมอุตสาหกรรม และการสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมน้ำลึก ในปี 2556  จังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี  มีสถานประกอบการที่จดทะเบียนและได้รับใบอนุญาต จำนวน 10,009 โรงงาน ดังนั้น คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงจำเป็นจะต้องเร่งผลิตพยาบาลวิชาชีพที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม โดยใช้สถาบันพัฒนาการพยาบาลอาชีวอนามัยฯ เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของงานอาชีวอนามัย งานด้านสร้างเสริมสุขภาพให้แก่แรงงาน รวมถึงสร้างรูปแบบการทำงานร่วมกันกับภาคีเครือข่ายในการดูแลสุขภาพผู้ประกอบอาชีพในสถานประกอบการให้สัมฤทธิ์ผล

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ในปี 2556 มีแรงงานในสถานประกอบการในเขตภาคตะวันออก 1,292,050 คน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บจากการทำงาน ตั้งแต่เจ็บป่วยเล็กน้อย ทุพพลภาพ จนถึงเป็นอันตรายต่อชีวิต สสส. จึงเล็งเห็นถึงการสร้างสุขภาวะที่ดีของแรงงานในสถานประกอบการ ซึ่งต้องประกอบด้วย 1.การบริหารจัดการและนโยบายที่เอื้อต่อสังคมสุขภาวะในโรงงานและสถานประกอบการ และ 2.การส่งเสริมให้พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในสถานประกอบการ มีความคิดสร้างสรรค์ทำโครงการสร้างเสริมสุขภาวะของแรงงานในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสม นอกเหนือจากการให้การรักษาพยาบาล