ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.แจงการตั้งกองทุนย่อย ผ่านกระบวนการตามกฎหมาย ต้องมีงานวิจัยรองรับ และต้องผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกก.สิทธิประโยชน์ เผยมีตัวเลขยืนยันชัดเจนว่าแต่ละโรคที่ทำกองทุนย่อยมีผู้ป่วยเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นอย่างไร เมื่อโรคใดแก้ปัญหาได้ ก็เข้าสู่กระบวนการเบิกจ่ายปกติ เช่น ผ่าตัดหัวใจ ที่เคยต้องรอคิวนาน เมื่อทำเป็นกองทุนย่อย คิวลดลง ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา ก็ยกเลิกกองทุนย่อยนี้ ยอมรับมีปัญหาการเบิกจ่ายอุปกรณ์บางรายการในระยะแรก แต่แก้ไขปัญหาแล้ว ยืนยันรับฟังทุกความเห็นเพื่อนำมาปรับปรุง เพราะสะท้อนถึงการยอมรับในประโยชน์ของการมีกองทุนย่อย แต่อาจต้องแก้ไขในการปฏิบัติบางเรื่อง

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ

สืบเนื่องจากกรณีที่มีการให้ข่าวว่า กระบวนการตั้งกองทุนย่อยของ สปสช.ไม่ถูกต้อง และไม่มีการศึกษาถึงความคุ้มค่านั้น ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ระบุว่า ยืนยันว่าการที่จะทำให้โรคใดเป็นกองทุนย่อยนั้น ผ่านกระบวนการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 คือการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบริการเพื่อศึกษาเรื่องความคุ้มค่า และไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องให้ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) สธ. ทำการวิจัยรองรับว่ามีคุณค่าหรือไม่

ส่วนประเด็นที่ระบุว่า บางโรคทำไปแล้วไม่คุ้มค่านั้น ทพ.อรรถพร ระบุว่า ไม่เป็นความจริง สปสช.มีตัวเลขยืนยันชัดเจนว่า ในแต่ละกองทุนทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นจำนวนเท่าไหร่ และช่วยลดภาระความเสี่ยงของหน่วยบริการที่ต้องตามจ่ายหรือดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งขณะนี้สปสช.อยู่ระหว่างการทำข้อมูลเผยแพร่ โดยย่อยจากรายงานประจำปี เพื่อสื่อสารให้สังคมได้รับทราบ  ทั้งนี้รายงานฉบับเต็มสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของสปสช.

ประเด็นเรื่องของวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ ที่มีปัญหาการซื้อจริงราคาหนึ่ง แต่มาเบิกจ่ายกับ สปสช.อีกราคาหนึ่ง ทำให้เกิดเงินรั่วไหลนั้น ทพ.อรรถพร ชี้แจงว่า สปสช.ยอมรับว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ และเป็นปัญหาจริง ซึ่งเมื่อทราบปัญหา ก็มีการแก้ไข และปัจจุบันนี้ก็ไม่มีปัญหาแบบนั้น แต่ไม่ใช่เรื่องที่บอกว่า วัวหายแล้วล้อมคอก และไม่ใช่ทำเพื่อฐานเสียง สปสช.ไม่มีฐานเสียง เป้าหมายของเราคือทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ไม่ได้เลือกว่าต้องเป็นกลุ่มประชาชนแบบไหน หรือเป็นผู้ป่วยแบบใด แต่แน่นอนว่า ในการทำงานทุกอย่างนั้น ย่อมต้องเกิดปัญหาบางอย่างที่เราไม่คาดคิด แต่เมื่อเกิดแล้ว ก็แก้ไข และปัจจุบัน ในรายการอุปกรณ์ อวัยวะเทียมของสปสช. มีข้อบ่งชี้ในการใช้ทุกรายการ

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ส่วนการที่บอกว่า สปสช.ไม่มีการตั้งเป้าว่า งบกองทุนย่อยแต่ละโรค จะยกเลิกเมื่อใดหลังจากปัญหาหมดไปนั้น ก็ไม่เป็นความจริงอีกเช่นกัน ที่ผ่านมา เมื่อสถานการณ์การเข้าถึงการรักษาในโรคใดกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ กองทุนย่อยในโรคนั้นก็ถูกยกเลิก และกลับเข้าสู่กระบวนการเบิกจ่ายงบผู้ป่วยในตามปกติ เช่น ในอดีตกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจมีปัญหาในการเข้าถึง ต้องรอคิวการผ่าตัดนาน เมื่อทำเป็นกองทุนย่อย มีการบริหารจัดการ ปัญหานี้ก็หมดลง เมื่อสถานการณ์เข้าที่ ปัจจุบันการผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจก็กลับเข้าสู่ระบบปกติในงบประมาณผู้ป่วยใน

“สปสช.ยินดีรับฟังกับทุกความคิดเห็นและคำชี้แนะ เพื่อนำมาทบทวน ปรับปรุงเพื่อให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งนี่เป็นกลไกที่ สปสช.ยึดถือมาโดยตลอด ในเรื่องการมีส่วนร่วม ประการสำคัญ สปสช.ต้องขอบคุณความเห็นนี้ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีกองทุนย่อย และมีข้อสรุปว่า ไม่ควรมีการยุบกองทุนย่อย เพราะจะกระทบการเข้าถึงบริการของผู้ป่วย และสร้างความเสี่ยงด้านการเงินให้หน่วยบริการ แต่สิ่งที่ชี้แนะเพื่อให้สปสช.ทบทวน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ยอมรับว่าในการปฏิบัติอาจจะมีบางเรื่องที่มีปัญหา สร้างภาระ หรือทำเกินความจำเป็น แต่ปัญหาที่สะท้อนเข้ามานั้น สปสช.จะรับไปแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดเป็นภาระของคนทำงาน ซึ่งก็เห็นตรงกันว่า กองทุนย่อยมีประโยชน์ แต่อาจจะมีปัญหาในเรื่องปฏิบัติอยู่บ้าง” โฆษกสปสช. กล่าว