ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ. ดึงโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยผลิตแพทย์ 21 แห่ง หรือยูฮอสเน็ต ร่วมจัดบริการประชาชน สนองนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะการผลิตแพทย์สาขาเชี่ยวชาญ เช่น มะเร็ง หัวใจ อุบัติเหตุ การรับมือโรคอีโบลา จัดบริการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน การป้องกันการขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ และการจัดบริการแพทย์แผนไทย โดยจัดระบบการดำเนินร่วมในเขตสุขภาพทั่วประเทศ

13 พ.ย.57 ที่โรงแรมชลพฤกษ์ รีสอร์ท จ.นครนายก ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้บริหารและอาจารย์แพทย์ จากโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่ายสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยหรือยูฮอสเน็ต (UHOSNET) 21 แห่ง จัดโดยศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี(มศว.)เพื่อร่วมจัดบริการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ สนองนโยบายรัฐบาล

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ทิศทางการดูแลสุขภาพเพื่อให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น และบุคลากรมีขวัญกำลังใจมีความสุข นโยบายหลักด้านสุขภาพของรัฐบาลที่สำคัญคือเน้นประโยชน์ เสมอภาค เกิดผลใน 1 ปี และยั่งยืน โดยสร้างการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมขับเคลื่อนงานไปพร้อมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานในสังกัด เพื่อระดมกำลังทรัพยากรสุขภาพ ทั้งภาครัฐเอกชนร่วมทำงานอย่างเป็นพันธมิตร มอบสุขภาพดีให้แก่ประชาชนทั้งสุขภาพกาย จิต และสังคม

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า นโยบาย 10 ข้อที่ต้องทำให้เป็นรูปธรรมใน 1 ปี มีหลายเรื่องที่ต้องมีความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับเครือข่ายโรงพยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งมีบทบาทหลักในการผลิตบุคลากรสุขภาพสาขาต่างๆ และอบรมทางวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรหลังปริญญา และร่วมจัดบริการ ประการแรกคือการแก้ไขการขาดสารไอโอดีน สนองแนวพระราชดำริของราชวงศ์ เพื่อพัฒนาระดับสติปัญญาเด็กไทยรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ โดยเน้นให้หญิงตั้งครรภ์กินยาเม็ดไตรเฟอร์ดีน ซึ่งเป็นยาผสมของสารโฟเลตกับไอโอดีน ขณะนี้ดำเนินการครอบคลุมโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดแล้ว มีเป้าหมายเพิ่มในรพ.เอกชนและรพ.มหาวิทยาลัยด้วย จะทำให้หญิงมีครรภ์ทุกคนได้รับยาครบถ้วน และอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว

ประการต่อมาคือ การจัดบริการผู้ป่วยที่ป่วยโรคเรื้อรัง เช่นมะเร็ง โรคหัวใจ อุบัติเหตุ ตามแผนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้มีในแต่ละเขตสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ใกล้บ้าน คิวรอรักษาสั้นกว่าเดิมไม่เกิน 3 เดือน จะมีความร่วมมือยูฮอสเน็ต อบรมแพทย์เฉพาะทางให้รพ.ศูนย์ ตั้งเป้าจะให้มีรพ.รักษาโรคเฉพาะทางเขตละ 2 แห่ง ซึ่งจะช่วยได้ดีมาก ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไกล รวมทั้งการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินประจำห้องอีอาร์รพ.ใหญ่ทุกแห่ง เพื่อให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ให้สามารถเข้ารับบริการได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์ รวมทั้งร่วมเตรียมพร้อมจัดบริการดูแลรักษาผู้ป่วยอีโบลาทั้งห้องแยกและบุคลากร ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งในการรับมือกับโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการพัฒนาความเข้มแข็งระบบบริการปฐมภูมิในแต่ละเขตสุขภาพ จะมีการสร้างทีมสุขภาพประจำครอบครัว ซึ่งเป็นการทำงานร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์สุขภาพชุมชน กับแพทย์ในรพ.ชุมชน เพื่อลงไปดูแลประชาชนที่ป่วยติดเตียง ติดบ้าน ซึ่งจะพบมากในผู้สูงอายุหรือดูแลผู้ป่วยที่รักษาไม่หายและอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตที่บ้าน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประชาชนในชุมชน ลดความแออัดโรงพยาบาลด้วย โดยเฉพาะการจัดระบบดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต กระทรวงสาธารณสุขได้สร้างทีมดูแลสุขภาพเป็นการเฉพาะ และมีความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดบริการดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยและอยู่ในชุมชนต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังได้ขอให้ยูฮอสเน็ต ร่วมจัดบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยการแพทย์แผนไทย และใช้ยาสมุนไพรให้มากขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าจะให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศมีบริการด้านนี้ครบทุกแห่งภายใน พ.ศ. 2560 รวมทั้งการผลิตบุคลากรสาขานี้เพิ่ม และพัฒนาศักยภาพการศึกษาวิจัยสร้างความเชื่อมั่นให้บุคลากร และประชาชนยิ่งขึ้น ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานในเรื่องนี้