ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.จัดประชุมระดับชาติชูนวัตกรรมล้างไตทางช่องท้องเพื่อผู้ป่วยและสังคมไทย 20-21 พ.ย.นี้ ภายใต้แนวคิด “วันวานมุ่งมั่น วันนี้มั่นคง พรุ่งนี้ยั่งยืน” เผยข้อมูลบริการล้างไตทางช่องท้องช่วยการเสียชีวิตลดลง ชี้สปสช.เน้นนโยบายล้างไตช่องท้องเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการที่ดีมีคุณภาพ และควบคุมค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณสุขของประเทศไม่ให้เพิ่มมากขึ้นจนเป็นภาระให้กับรัฐบาล

13 พ.ย.57 นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังดำเนินงานตามนโยบายสิทธิประโยชน์บำบัดทดแทนไตทางช่องท้องมาตั้งแต่ปี 2551 องค์กรภาคีที่ร่วมดำเนินงานมีบทเรียนความสำเร็จและเห็นประเด็นที่ต้องพัฒนาต่อไป สปสช. จึงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิโรคไต สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย และชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เตรียมจัดการประชุมระดับชาติเรื่อง “การบริการบำบัดทดแทนไตทางช่องท้อง : เพื่อผู้ป่วยและสังคมไทย” ในวันที่ 20 -21 พฤศจิกายน 2557 ณ ห้องประชุม ศูนย์การประชุมอิมแพคฯ เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “วันวานมุ่งมั่น วันนี้มั่นคง พรุ่งนี้ยั่งยืน”

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกว่าเวทีนี้เป็นการสรุปบทเรียนและติดตามความก้าวหน้าของไทยและสากล แลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาการบริหารจัดการ การเพิ่มคุณภาพบริการ และการสร้างนวัตกรรมการบริการ ที่สำคัญคือเพื่อให้กำลังใจกับหน่วยบริการ เจ้าหน้าที่ และผู้ป่วยที่มีผลงานดีเด่นหรือเป็นแบบอย่างความสำเร็จ โดยมีการประกวดนวัตกรรมการล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดถึง 66 ผลงาน

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยไตวายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 จนถึงปัจจุบัน ได้รับบริการล้างไตทางช่องท้องประมาณ 28,000 คน ติดตามผู้ป่วยที่ทำการล้างไตทางช่องท้องต่อเนื่อง 52 เดือน พบว่าเสียชีวิตเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 9.2 ต่อปี  ขณะที่ผู้ป่วยที่ทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเสียชีวิตประมาณร้อยละ 9.6 ต่อปี ซึ่งในภาพรวมเฉลี่ย 1 ปี พบว่าผู้ป่วยฟอกเลือดเสียชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องเล็กน้อย ซึ่งหากมีการจัดการที่ดีต่อไปเช่นนี้น่าจะเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานของการล้างไตทางช่องท้องมากขึ้น ลดความกังวลที่ว่าเป็นวิธีที่ล้าสมัยและมีการเสียชีวิตจากการติดเชื้อสูง

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวตอนท้ายว่า การทำนโยบายดังกล่าว สปสช. มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการที่ดีมีคุณภาพ และควบคุมค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณสุขของประเทศไม่ให้เพิ่มมากขึ้นจนเป็นภาระให้กับรัฐบาล ระยะเวลา 5 ปีกว่าที่ผ่านมาได้เกิดการพัฒนาทั้งทางวิชาการและเครือข่ายบริการ จำนวนบุคลากรที่ได้รับการอบรมและมีความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ผู้ป่วยและบุคลากรเกิดความมั่นใจว่าเป็นวิธีการที่ปลอดภัย โดยเฉพาะกับผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะเป็นวิธีที่ช่วยรักษาสภาพการทำงานของไตได้นาน และยังเป็นวิธีการที่สะดวกที่สุดผู้ป่วยทำเองได้ที่บ้านภายใต้การติดตามอย่างใกล้ชิดของโรงพยาบาล ผู้ป่วยจึงสามารถทำงานหรือใช้ชีวิตในสังคมได้ ซึ่งแผนงานในอนาคตจะเน้นขยายเครือข่ายให้บริการในระดับชุมชนและดึงชุมชนสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยและพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้นต่อไป