ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทุกวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี สหพันธ์เบาหวานนานาชาติ และองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้เป็นวันเบาหวานโลก โดยเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2534 ซึ่งการกำหนดวันดังกล่าวขึ้นมาเพื่อต้องการให้ประชาชนทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายของโลกเบาหวานที่มีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้นทุกปี และเพื่อเป็นการระลึกถึง และเป็นวันเกิดของของเฟรเดอริก แบนติง ผู้ ร่วมกับชาร์ลส์ เบสต์ เป็นคนแรกที่เข้าใจแนวคิดซึ่งนำไปสู่การค้นพบอินซูลินใน พ.ศ. 2465

Sir Frederick Grant Banting

สำหรับประวัติของ เฟรเดอริก แกร์นท์ แบนติง (Sir Frederick Grant Banting, KBE, MC, MD, FRSC - 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2434 – 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484) นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชาวแคนาดา แพทย์และผู้ได้รับรางวัลโนเบลจากการร่วมเป็นผู้ค้นพบอินซูลิน เกิดที่เมืองอัลลิสตัน ออนทาริโอ ประเทศแคนาดา หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโทรอนโต เมื่อ พ.ศ. 2459 ได้เข้ารับราชการทหารหน่วยการแพทย์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้รับไม้กางเขนระหว่างสงคราม หลังสงครามได้กลับประเทศและเข้ารับการฝึกหัดเป็นศัลยแพทย์กระดูกที่โรงพยาบาลเด็กในโทรอนโตระหว่างปี พ.ศ. 2462 - พ.ศ. 2463 และในฤดูร้อนปีนั้น แบนติงได้ไปทำงานเป็นแพทย์ในออนทาริโอ ในขณะที่กำลังอ่านบทความจากวารสารการแพทย์ เขาได้บันทึกความคิดเกี่ยวกับวิธีการแยกสารหลั่งภายในของตับอ่อน ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสำคัญมากที่จะช่วยให้การรักษาโรคเบาหวานที่ได้ผล ซึ่งในขั้นนี้เองที่ขั้นตอนทั้งหมดที่เคยทำกันมาเพื่อแยกสารเพื่อให้แก่คนไข้ล้มเหลวมาโดยตลอด ด้วยความที่แบนติงไม่ค่อยชอบการทำงานเป็นแพทย์ แต่มีความสนใจตื่นเต้นกับความคิดนี้มาก เขาจึงย้ายจากออนทาริโอไปโทรอนโตโดยได้เริ่มงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยโทรอนโต เมือ่วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 ภายใต้การดูแลของศาสตราจารย์จอห์น แมคลอยด์ แบนติงได้รับมอบนักศึกษาปริญญาโทคนหนึ่งให้มาเป็นผู้ช่วย คือ ชาร์ล เบส

แบนติงได้ทำการทดลองอย่างหนัก โดยการผ่าตัดสุนัขเพื่อมัดท่อตับอ่อน เพื่อทำให้เกิดการฝ่อบางส่วนแล้วจึงตัดเอาตับอ่อนออกในสัปดาห์ต่อมา โดยหวังว่าตับอ่อนจะมีสารหลั่งที่สะอาด เข้มข้นและไม่ปนเปื้อน จากนั้นจะทำการสะกัดไปรักษาสุนัขที่ป่วยเป็นเบาหวานโดยการรักษาด้วยการลดน้ำตาลในเลือดเพื่อดูว่าจะได้ผลหรือไม่

หลายเดือนต่อมา ดูเหมือนว่าวิธีการของแบนติงจะได้ผลเนื่องจากเขาสามารถทำให้สุนัขมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการลดระดับน้ำตาลในเลือดลง และได้รีบรายงานให้แมคลอยด์ได้รับทราบ ยังมีข้อสงสัยว่าวิธีของแบนติงยังหยาบและไม่ได้ผลจริง ต่อมา จากการเข้าลงมือร่วมวิจัยโดยตรงของแมคลอยด์และนักเคมีชื่อเจมส์ คอลลิบ พบว่าการใช้ตับอ่อนของสุนัขได้ผลในทางปฏิบัติ จึงย้ายไปทำกับลูกวัวและวัว เทคนิคการผูกท่อตับอ่อนถูกยกเลิกไป หันมาใช้วิธีสะกัดที่ได้ผลดีในตับธรรมดาที่ไม่ต้องมัดท่อ และเรียกสารที่สะกัดได้นี้ในระหว่าง พ.ศ. 2464-2465 ว่า "อินซูลิน"

การกระทำนี้ได้รับการสรรเสิญว่าเป็นความก้าวหน้าสูงสุดในยุคนั้น ไม่เพียงการค้นพบเพียงอินซูลิน แต่ยังสามารถทำการผลิตเป็นจำนวนมากในเวลานับได้เป็นเดือนเท่านั้น เรียกได้ว่าสามารถช่วยชีวิตคนนับล้านทั่วโลกที่ป่วยจากโรคต่อมไร้ท่อและโรคเบาหวานซึ่งไม่สามารถรักษาและพยากรณ์โรคในขณะนั้นได้ทันที

แบนติง และ แมคลอยด์ ได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ แบนติงได้แบ่งเงินรางวัลให้เบสท์ เพราะเชื่อว่าเบสท์สมควรได้รับรางวัลมากกว่าแมคลอยด์ ผู้ซึ่งต่อมาก็ได้แบ่งเงินรางวัลให้แก่คอลลิบด้วยเช่นกัน แบนติงได้สร้างความปลาบปลื้มให้แก่ชาวแคนาดาเป็นอันมาก เนื่องจากเขาเป็นบุคคลแรกที่สร้างชื่อเสียงในระดับโลกให้แก่แคนาดา รัฐบาลแคนาดาได้การสนับสนุนเงินวิจัยแก่แบนติงไปตลอดชีวิต ในปี พ.ศ. 2477 พระเจ้าจอร์จ ที่ 5 แห่งอังกฤษ ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นเซอร์แก่แบนติงเป็น เซอร์ เฟรเดอริก แบนติง

สำหรับคำขวัญวันเบาหวานโลกปีนี้ "กินเพียงพอไม่เสี่ยงเบาหวาน เลือกไม่ยาก เลือกให้เป็น เริ่มด้วยมื้อเช้า"

เรื่องที่เกี่ยวข้อง