ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ร่วมมือกับเครือข่าย 27 องค์กร เปิดเวทีเสวนา Code Milk in Thailand พิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ....

14 พ.ย.57 นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการเสวนา Code Milk in Thailand ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญต่อการปกป้องสุขภาพของแม่และเด็กโดยการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ....ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอดและได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.2551 พร้อมขอความร่วมมือทุกหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขให้ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว และจัดระบบการติดตาม เฝ้าระวัง การละเมิดหลักเกณฑ์ฯ แต่ประกาศดังกล่าวเป็นเพียงข้อแนะนำไม่มีผลบังคับใช้และบทลงโทษให้ชัดเจน จึงไม่สามารถควบคุมการละเมิดการส่งเสริมการตลาดได้

ทั้งนี้ จากการสำรวจการละเมิดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารก และเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ในปี 2551 พบว่า มีโรงพยาบาลของรัฐถึงร้อยละ 31 มีการละเมิดหลักเกณฑ์โดยใช้กลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทนมผง เช่น แจกนมผง ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือเทศบาล หรือแจกคูปอง ให้แม่ และครอบครัวไปรับนมผงที่ร้านขายยา จากนั้นในปี 2553 กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยจึงได้เสนอหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เข้าสู่กระบวนการของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 ให้กระทรวงสาธารณสุขพัฒนา และผลักดันร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ....ซึ่งกรมอนามัยและภาคีเครือข่ายได้มีการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

นพ.อำนวย กล่าวต่อไปว่า การเสวนา Code Milk in Thailand ในครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขโดย กรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 27 องค์กร อาทิ ประชาสังคมตำบลนมแม่จันทบุรี เครือข่ายป้องกันนมแม่ศิริราช เครือข่ายนักวิชาการปกป้องนมแม่ เครือข่าย อสม. นมแม่แห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) องค์การอนามัยโลก (WHO) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เป็นต้น ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกันในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ....ซึ่งความคิดเห็นที่ได้รับ จะนำไปประกอบกับร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว พร้อมทั้งอาจมีการปรับปรุงแก้ไขในบางประเด็น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่และเด็กมากที่สุด ก่อนที่จะนำร่างพระราชบัญญัติฯ เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามเห็นชอบต่อไปภายในปีนี้ และดำเนินการตาม ขั้นตอนต่อไป

นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในเด็กแรกเกิด–ต่ำกว่า 6 เดือน ยังต่ำกว่าร้อยละ 29.5 เด็ก 0-5 ปี มีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 72.5 และจากการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของทารกและเด็กเล็กต่อพัฒนาการและสมองของทารกและเด็กเล็ก พบว่าการให้นมแม่ยิ่งนานจะเพิ่มเชาวน์ปัญญาด้านภาษา (verbal IQ) และเชาวน์ปัญญาด้านการปฏิบัติ (Performance IQ) ดังนั้น เด็กที่กินนมแม่นาน 8 เดือนหรือมากกว่า จะมีเชาวน์ปัญญาด้านภาษามากกว่า 10.2 จุด และเชาวน์ปัญญาด้านการปฏิบัติมากกว่า 6.2 จุด เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่และผลการศึกษาเด็กคลอดก่อนกำหนด 300 คน เมื่ออายุ 7-8 ปี พบว่าเด็กได้รับนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด จะมี IQ มากกว่า 8.3 เปรียบเทียบกับทารกที่กินนมผสมพบจะมีโอกาสเจ็บป่วยมากกว่า