ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : ในแวดวงข่าวด้านสาธารณสุขวินาทีนี้ ไม่มีเรื่องไหนจะฮอตฮิตมากไปกว่าเรื่อง "เขตสุขภาพ" ที่ทุกภาคส่วนในแวดวงสาธารณสุขพยายามผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ แต่จนถึงขณะนี้ยังมีความลักลั่นในเรื่องของการบริหารจัดการงบประมาณ ที่เจรจากันไม่ลงตัวระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะ "ผู้ให้บริการ" กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะ "ผู้ซื้อบริการ"

และล่าสุดในฟากของ สธ.ซึ่งนำโดย "นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์" ปลัด สธ. ยังถูกกลุ่ม 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ประกอบด้วย ชมรมแพทย์ชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, กลุ่มคนรักหลักประกัน, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และมูลนิธิเภสัชชนบท เคลื่อนไหวคัดค้านให้เหตุผลว่าแนวคิดเขตสุขภาพของ สธ.เป็นนโยบายที่รวมศูนย์อำนาจ แถมอาจจะกระทบต่อประชาชนในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ซึ่งมีมากถึง กว่า 48 ล้านคน

เขตสุขภาพเป็น 1 ในนโยบายปฏิรูประบบสาธารณสุข ปัจจุบันมีอยู่ 2 ส่วนที่ดำเนินการไปแล้ว คือ 1.เขตสุขภาพของ สธ. ที่เน้นปรับโครงสร้างการบริหารและการบริการร่วมรูปแบบใหม่ โดยมีการแบ่งปันทรัพยากรซึ่งมีจำกัดทั้งงบประมาณ บุคลากรทางการแพทย์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ให้แต่ละเขตสุขภาพ ซึ่งมี 12 เขต บริหารจัดการกันเอง 2.เขตสุขภาพของ สปสช.ในรูปของคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต (อปสข.) ซึ่งมี 12 เขตเหมือนกัน ที่ทำหน้าที่ซื้อบริการจากโรงพยาบาลในสังกัด สธ. และตรวจสอบว่าประชาชนในพื้นที่เข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพหรือไม่ รวมทั้งทำหน้าที่ประเมินว่าการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวเป็นไปตามเงื่อนไข/กติกาของบอร์ด สปสช.หรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึง "เขตสุขภาพภาคประชาชน"ซึ่งเกิดขึ้นจากการผลักดันของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ล้อไปตาม 12 เขตสุขภาพของภาครัฐ แต่จะเน้นให้ตัวแทนจากทุกภาคส่วนในท้องถิ่นบริหารจัดการในรูปคณะกรรมการ เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาจากพื้นที่เพื่อนำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดูแลประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะเชื่อว่าแต่ละพื้นที่มีสภาพปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกัน

ความจริงเขตสุขภาพที่มาจากแนวคิดของทั้ง 3 ฝ่าย มีเป้าหมายสูงสุดไม่แตกต่างกัน คือ ทำเพื่อประโยชน์ของ "ประชาชน" ซึ่งในที่นี้หมายถึงประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เข้าถึงบริการสูงขึ้นอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ได้รับบริการใกล้บ้านอย่างมีคุณภาพ และมีระบบส่งต่อที่ดีไร้รอยต่อ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน แต่ปัญหาคือ ระหว่าง สธ.กับ สปสช.ยังตกลงกันไม่ได้ในเรื่องของการบริหารจัดการ "งบประมาณ" เหมาจ่ายรายหัวกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2558 ซึ่งมีตัวเลขที่คิดตามรายหัวประชากร จำนวน 48,606,000 คน รวมวงเงิน 140,718.74 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 2,895.09 บาทต่อคน

ที่ตกลงกันไม่ได้ เพราะฝ่าย สปสช.ยังต้องการให้คงการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวให้โรงพยาบาลในสังกัด สธ.ตามเดิม คือ แบ่งเป็น 9 หมวด ตามประเภทการบริการ กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ และช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ เมื่อได้รับความเสียหายจากการบริการโดยไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด ซึ่งประกอบด้วย 1.งบบริการผู้ป่วยนอก 2.งบบริการผู้ป่วยใน 3.งบบริการกรณีเฉพาะ 4.งบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 5.งบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ 6.งบบริการการแพทย์แผนไทย 7.งบค่าเสื่อม 8.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการในมาตรา 41 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และ 9.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการ

แต่ฟากของ สธ.กลับเสนอสวนทาง ต้องการจัดหมวดหมู่ใหม่เหลือเพียง 4 หมวด คือ 1.การบริการผู้ป่วยนอก 2.การบริการผู้ป่วยใน 3.งบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และ 4.เงินช่วยเหลือผู้ให้บริการและรับบริการตามมาตรา 41 เพื่อให้เงินแต่ละกองที่มีอยู่อย่างจำกัดถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลแต่ละแห่งได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และ สามารถทำให้ผู้ป่วยทุกประเภทได้รับการบริการ ที่ดี

แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า ที่ สธ.เสนอให้จัดหมวดหมู่เหลือเพียง 4 หมวดนั้น แล้วรายการหมวดอื่นๆ ที่หายไปจะจัดเข้าไปอยู่ในหมวดใด แต่ที่แน่ๆ วันนี้กลุ่มประชาชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่างเริ่มรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในการใช้บริการ

กว่า 2 เดือนมาแล้ว ที่ปัญหานี้ยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ ในขณะที่ทั้ง สธ. และ สปสช.ยืนยันผ่านสื่อสารมวลชนมาโดยตลอดว่า แนวทางเหล่านี้ "ทำเพื่อประชาชน" แต่ก็น่าคิดว่าเมื่อตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายนั่งโต๊ะเจรจากันครั้งใด กลับไม่เคยได้ข้อยุติในวงสนทนา ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายยังนัดหารือกันต่อเนื่อง ถ้าเช่นนั้น มาลองทำความเข้าใจใน "บทบาท" และ "หน้าที่" ของแต่ละฝ่ายกันใหม่ดีหรือไม่

เผื่อว่าการหารือนัดถัดไป เราจะเห็น "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" ไปพร้อมๆ กัน

ผู้เขียน : น.รินี เรืองหนู

ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 15 พ.ย. 2557