ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.แจง เกณฑ์การจ่ายงบ QOF ยึดตาม NICE guidance ประเทศอังกฤษ จ่ายเงินเสริมงบผู้ป่วยนอก 45-92 บาทต่อหัวประชากร หนุนงานบริการระดับปฐมภูมิ 1,204 แห่ง ภายใต้ตัวชี้วัด 9 รายการ ตามข้อตกลงร่วมกับ สธ. เผยผลงานปี 57 ช่วยสร้างความตื่นตัวงานอนามัยแม่และเด็ก การจัดการโรคเรื้อรังระดับอำเภอ รวมถึงพัฒนางานสาธารณสุขในพื้นที่

16 พ.ย.57 พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงวิธีการจ่ายงบประมาณตามผลงานและคุณภาพบริการ (Quality and Outcome Framework: QOF) แก่หน่วยบริการประจำ หน่วยบริการปฐมภูมิ ว่า เป็นวิธีการจ่ายงบประมาณที่ดัดแปลงจากวิธีการบริหารแบบจ่ายตามผลงาน ของ NICE guidance ระบบบริการแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (UK NHS) ตามที่ได้ตกลงกัน โดยใช้งบประมาณ 37 บาทต่อหัวประชากรระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากงบผู้ป่วยนอก และ 20 บาทต่อประชากรทั้งหมดในเขตมาจัดสรร โดยกำหนดตัวชี้วัด 9 รายการ ซึ่งได้ตกลงกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปสช. ได้แก่ งานส่งเสริมสุขภาพเด็ก 2 รายการ งานอนามัยแม่และเด็ก 1 รายการ สุขภาพสตรี คัดกรองมะเร็งปากมดลูก 1 รายการ เบาหวาน ความดันโลหิตสูงในระดับปฐมภูมิ 2 รายการ หอบหืด 1 รายการ กระบวนการจัดการให้มีหมอใกล้บ้าน ใกล้ใจ 1 รายการ และการจัดระบบสุขภาพระดับอำเภอ 1 รายการ นอกจากนั้นให้ อปสข. กำหนดตัวชี้วัดเพิ่มได้

ทั้งนี้วัตถุประสงค์การจ่าย QOF เป็นการจ่ายงบเสริมจากงบเหมาจ่ายรายหัวผู้ป่วยนอกให้กับหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีจำนวน 1,204 หน่วย โดยจำนวนงบ QOF ที่กระจายลงไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิแต่ละแห่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผลงานและคุณภาพของหน่วยบริการปฐมภูมินั้น โดย สปสช.ใช้ข้อมูล 4 ไตรมาสจาก 21/43 แฟ้ม มาประมวลผลเพื่อกระจายงบประมาณนี้ ซึ่งไม่ต้องมีการคีย์ข้อมูลใหม่ 

พญ.ประสบศรี กล่าวว่า ส่วนการกำหนดกรอบงบประมาณ เบื้องต้นเป็นการกำหนดวงเงินภาพรวมทั้ง 13 เขต (Global เขต เขต 1 ถึง เขต 13) โดยจะจ่ายล่วงหน้าให้กับหน่วยบริการปฐมภูมิเพื่อเป็นทุนในการสร้างผลงานร้อยละ 55 ก่อน หลังจากนั้นจึงทำการตรวจประเมินผลงานเพื่อจ่ายในส่วนที่เหลือ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับผลประมวลของข้อมูลผลงานตามตัวชี้วัด โดยภาพรวมหน่วยบริการปฐมภูมิจะได้รับงบ QOF เพิ่มตั้งแต่ 45 บาท ถึง 92 บาท  

ด้าน นพ.ชูชัย ศรชำนิ ประธานกลุ่มภารกิจสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการ กล่าวว่า จากผลดำเนินการ QOF ปี 2557 ทำให้เกิดการตื่นตัวเรื่องการอนามัยแม่และเด็ก การจัดบริการโรคเรื้อรังในระดับหน่วยบริการประจำหน่วยบริการปฐมภูมิ กระแสการขับเคลื่อนระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System :DHS) การพัฒนาการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ และการพัฒนาระบบการสาธารณสุขของพื้นที่ ตามการประเมินผลความจำเป็นด้านสุขภาพ (Health Needs Assessment) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดของเขตบริการสุขภาพของเขตเอง นอกจากนี้จากการจ่ายงบ QOF ได้มีผลงานวิจัยประเมินพบว่า ช่วยเสริมให้หน่วยบริการระดับปฐมภูมิสามารถสร้างผลงานและมีคุณภาพใกล้บ้าน ใกล้ใจ เป็นที่มั่นใจแก่ประชาชนในพื้นที่ได้.