ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กพย.ห่วงเชื้อดื้อยาจากการอนุญาตให้ใช้ยาปฏิชีวนะในภาคเกษตร ทั้งรักษาโรคพืช ผสมอาหารสัตว์เพื่อป้องกันโรค ไม่เกิน 15% ชี้ให้ปริมาณน้อยไม่ช่วยฆ่าเชื้อ แต่ทำเชื้อดื้อยา พบใช้ยาปฏิชีวนะรักษาวัณโรคในไก่ชน ห่วงดื้อยากระทบคนป่วยวัณโรคในไทยจำนวนมาก

16 พ.ย. ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นห่วงปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะมาก เนื่องจากพบการนำไปใช้ปะปนกัน จนสามารถเข้าสู่ร่างกายคนเราได้หลายวิธีนอกเหนือจากการรับประทาน และเมื่อเร็วๆ นี้พบประกาศอย่างเป็นทางการสามารถใช้ยาปฏิชีวนะหลายตัวในภาคการเกษตร เพื่อรักษาโรคพืชในอัตราส่วนไม่เกิน 15% และไม่ถือว่าเป็นยา เท่าที่มีการสำรวจ และเฝ้าระวังพบว่ามีการใช้ในสวนส้มแล้วแน่ๆ น่าเป็นห่วงมากเพราะตัวยาจะลงสู่ธรรมชาติ ทั้งดิน และนำและกลายเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

ภญ.นิยดา กล่าวว่า ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ก็กระทรวงสาธารณสุขเองก็ได้ออกประกาศเรื่องอนุญาตให้ใช้ยาปฏิชีวนะหลายๆ ตัวเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ โดยไม่ถือว่าเป็นยาเช่นเดียวกันส่งผลให้เกิดการตกค้างและเชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้น โดยจากผลการวิจัยของรพ.ศิริราช จะเห็นเลยว่าพบในเนื้อไก่สำเร็จรูปตามซูเปอร์มาร์เก็ตมีเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ล่าสุดจากการเฝ้าระวังของเครือข่าย กพย. พบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มที่รักษาโรควัณโรคไปใช้ในไก่ชนจำนวนมากที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตรงนี้ถือเป็นเรื่องอันตรายเพราะก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาลามหลายพื้นที่ ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทยก็มีเยอะเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากเกิดภาวะวัณโรคดื้อต่อยาปฏิชีวนะแล้วจะเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่พบว่าสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายของชำ ซึ่งความจริงไม่ควรหาซื้อได้ง่ายขนาดนั้น เพราฉะนั้นจะต้องรณรงค์ต่อไปว่าห้ามจำหน่ายยาปฏิชีวนะในร้านขายของชำต่อไป  

“ก่อนหน้านี้เคยทักท้วงเรื่องการผสมยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์ไปแล้ว เป็นเรื่องที่ตลกมากที่เขาก็ห้ามนำไปผสมเพื่อช่วยเรื่องการเจริญเติบโตของสัตว์ด้วยการเปลี่ยนมาใช้คำพูดว่า เพื่อป้องกันโรคในสัตว์ เท่ากับว่าไม่มีการห้ามอะไรเลย แถมยังบอกว่ายาปฏิชีวนะจะไม่ตกค้าง แต่การที่ให้ยาปฏิชีวะกับสัตว์ปริมาณน้อยๆ ไม่ได้ช่วยฆ่าเชื้อ แต่ไปทำให้เชื้อต่อต้านและกลายพันธุ์ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นจึงอยากให้มีการควรคุมตรงนี้ หรือห้ามใช้ได้ก็จะดีมาก” ผู้จัดการ กพย. กล่าว และว่า ในวันที่  18 พ.ย. นี้ จะมีการประชุมร่วมกับนักวิชาการหลายๆ ประเทศ อาทิ ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพื่อสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังภาวะเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะร่วมกัน