ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยกระดับ 20 รพช.เป็น รพท. เริ่มชัดเจน สธ.ตั้ง นพ.ธงชัย ผู้ช่วยปลัด เป็นประธานคณะทำงานจัดคนลงตามโครงสร้างและตำแหน่งใหม่ มี นพ.สสจ. ผอ.รพ. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในแต่ละจังหวัดเป็นคณะทำงานระดับจังหวัด ประชุมนัดแรก 18 พ.ย. นี้ เผยทุกรพ.ต้องเพิ่มศักยภาพให้ได้ตามระดับ รพท. ขาดประเด็นไหนทำเรื่องเสนอมา บางเรื่องคณะทำงานจะกำหนดให้รพ.ต้องพัฒนา เช่น การสร้างธนาคารเลือด เชื่อไม่มีใครค้านยกระดับ เป็นการพัฒนาเพื่อประชาชน ไม่เกี่ยวเรื่องค่าตอบแทนที่ลดลง

16 พ.ย.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 7 พ.ย.57 ลงนามโดย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดสธ. ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่มีโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) ได้ยกระดับขึ้นเป็นโรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) 14 จังหวัด เพื่อเชิญคณะทำงานจัดคนลงตามโครงสร้างและตำแหน่งของรพช.ที่ยกฐานะเป็นรพท.ของแต่ละจังหวัด ซึ่งมี นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ช่วยปลัดสธ. เป็นประธาน และมีคณะทำงาน ประกอบด้วย อาทิ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผอ.รพช. ผอ.กลุ่มบริหารงานบุคคล ข้าราชการที่ปฏิบัติงานด้านบริหารทรัพยากรบุคคลของสำนักงานสสจ. ข้าราชการที่ปฏิบัติงานการเจ้าหน้าที่ของรพช.ที่ได้รับการยกระดับเป็นรพท.ที่ผอ.มอบหมาย เข้าประชุมเพื่อดำเนินการจัดโครงสร้างและตำแหน่งของรพท. กับสป.สธ.ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ เวลา 13.00 น.

ทั้งนี้คณะทำงานดังกล่าวมีหน้าที่ ดำเนินการจัดคนลงตามโครงสร้างและตำแหน่งของรพช.ที่ยกฐานะเป็นรพท. และรายงานผลการดำเนินการต่อปลัดสธ. โดยหนังสือดังกล่าวได้ระบุถึงสิ่งที่จังหวัดต้องเตรียมการจัดคนลงตามโครงสร้างและตำแหน่งของรพช.ที่ยกฐานะเป็นรพท.ดังนี้

1.ให้จังหวัดยุติความเคลื่อนไหวด้านการบริหารงานบุคคล เฉพาะ 20 ส่วนราชการที่ยกฐานะเป็นรพท.ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.57 จนกว่าการจัดคนลงตามโครงสร้าง/ตำแหน่งจะแล้วเสร็จ และเสนอลงนามคำสั่ง

2.การจัดคนลงฯ ส่วนราชการควรพิจารณาในรูปคณะกรรมการ

3.จัดเฉพาะตำแหน่งที่มีอยู่ตามบัญชีถือจ่าย (จ.18) กรณีมีผู้มาช่วยปฏิบัติราชการไม่จัดลงในโครงสร้าง

4.จัดคนลงตามโครงสร้างฯ ที่กำหนดไว้ตามหนังสือสป.สธ. 0201.032/ว 76 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2547

ด้านเว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 16 พ.ย.รายงานว่า นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ประธานคณะทำงานพิจารณาปรับโครงสร้างและตำแหน่งบุคลากรของ รพช.ที่ยกสถานะเป็น รพท. กล่าวถึงความคืบหน้าการยกระดับ รพช. 20 แห่ง เป็น รพท. ว่า โรงพยาบาลทั้ง 20 แห่งยังคงทำงานเหมือนเดิม แต่จะต้องเพิ่มศักยภาพให้ได้ตามระดับของ รพท. ซึ่งยังขาดประเด็นอะไรก็ให้ทำข้อเสนอมา หรือบางเรื่องคณะทำงานฯ จะเป็นผู้กำหนดให้โรงพยาบาลต้องพัฒนาให้ได้ตามนั้น เช่น การสร้างธนาคารเลือด ซึ่งจำเป็นต้องมี ก็ทำเรื่องเสนอตามหลักเกณฑ์การของบประมาณในปีถัดไป เป็นต้น โดยวันที่ 18 พ.ย.นี้ ตนจะเชิญคณะทำงานฯ มาประชุม เพื่อหารือถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและกรอบอัตรากำลังคนของโรงพยาบาลทั้ง 20 แห่ง อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าไม่มีใครคัดค้านการยกระดับ เพราะเป็นเรื่องปกติในการพัฒนาระบบให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องค่าตอบแทนที่ลดลงแต่อย่างใด อันเนื่องมาจากต้องมาใช้พีฟอร์พีแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย
       
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการค้างจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้กับบุคลากรบางที่ซึ่งค้างนาน 2-3 เดือน นพ.ธงชัย กล่าวว่า เป็นเพียงบางแห่งที่มีปัญหาสภาพคล่อง โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องประมาณ 160 แห่ง ซึ่งจริงๆ มีปัญหามาตลอดในบางโรงพยาบาลที่มีเงินไม่พอ โดยอยู่ระหว่างการหาวิธีบริหารจัดการ อย่าง สธ.ก็พยายามจะปรับระบบการจ่ายเงินให้กับหน่วยบริการ โดยให้มีการปรับเกลี่ยเงินกันในเขตจะทำให้สภาพคล่องของโรงพยาบาลดีขึ้น เพราะการจัดสรรเงินแบบปัจจุบัน โรงพยาบาลที่ขาดสภาพคล่องก็จะขาดสภาพคล่องซ้ำซาก ขณะที่โรงพยาบาลที่มีเงินเหลือเยอะก็จะเหลืออยู่อย่างนั้น ถ้าปรับเกลี่ยกันก็จะช่วยเหลือกันได้ภายในเขต
       
ทั้งนี้ รพช. 20 แห่ง ที่จะถูกยกระดับเป็น รพท. ประกอบด้วย 1.รพ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ 2.รพ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 3. รพ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 4.รพ.บางละมุง จ.ชลบุรี 5. รพ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 6. รพ.แกลง จ.ระยอง 7. รพ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 8. รพ.มาบตาพุด จ.ระยอง 9. รพ.สมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จ.สกลนคร 10. รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น 11. รพ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี 12. รพ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ 13. รพ.เทพรัตน์นครราชสีมา จ.นครราชสีมา 14. รพ.ปากช่องนานา จ.นครราชสีมา 15. รพ.ปราสาท จ.สุรินทร์ 16. รพ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี 17. รพ.สมเด็จพระยุพราชเดชอุดม จ.อุบลราชธานี 18. รพ.50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ จ.อุบลฯ 19. รพ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และ 20. รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช