ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : หลังคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติให้คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง หารือร่วมกับผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อหาข้อยุติในการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามข้อเสนอของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ที่ต้องการให้ปรับรูปแบบการจัดสรรงบฯไปตามเขตสุขภาพ แทนการส่งตรงให้โรงพยาบาล เพื่อลดขั้นตอนการทำงานของบุคลากรในโรงพยาบาล ขณะที่ฟากของภาคประชาชนหวั่นกลัวว่าแนวทางของ สธ.อาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย หากมีการยุบกองทุนโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่กว่า 2 เดือน เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อยุติใดๆ ซึ่งล่าสุด นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ได้เปิดใจถึงปัญหาดังกล่าวกับ "มติชน"

เขตสุขภาพในมุมมองท่านคืออะไร

ต้องเข้าใจก่อนว่า เขตสุขภาพมีอะไรบ้าง หากเป็นเขตสุขภาพของ สธ. ก็คือ ความต้องการให้โรงพยาบาลในระดับต่างๆ ได้ใช้ทรัพยากรร่วมกัน จัดระบบบริการร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริการประชาชน ซึ่งผมเห็นด้วย ส่วนเขตสุขภาพของ สปสช.หรือที่เรียกว่า คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.) ทำหน้าที่ดูแลว่าคนในเขตได้รับบริการที่มีคุณภาพหรือไม่ ซึ่งตรงนี้จะแบ่งบทบาทกันชัดเจน อย่างประชาชนบางพื้นที่มีปัญหาเขตสุขภาพแตกต่างกันไป เราเป็นตัวแทนประชาชน ทำให้รู้ว่าประชาชนต้องการอะไร และเราก็มีหน้าที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ โดย สธ.เป็นผู้จัดบริการตามความต้องการประชาชน ซึ่งก็จะทำให้การทำงานสอดคล้องกัน เพราะเขตสุขภาพทั้ง สธ.และ สปสช. เหมือนกัน มีทั้งหมด 12 เขตสุขภาพ หากรวมพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วย ก็จะเป็น 13 เขตสุขภาพเช่นเดียวกัน โดยเขตสุขภาพของ สธ.จะใช้ผู้ตรวจราชการกระทรวง บริหารจัดการ แต่ของ อปสข.จะเน้นเป็นคณะกรรมการ มีหลากหลายภาคส่วนเข้ามา ทั้ง สธ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยประธาน อปสข.เกิดจากการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งอาจเป็นอดีตผู้บริหาร สธ. ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น โดยมีวาระการทำงาน 4 ปี จริงๆ แล้วไม่ใช่ทุกอย่างจะทำโดย อปสข.อย่างเดียว เช่น กรณีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีรับบริการทางการแพทย์ตามมาตรา 41 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จะไม่ได้ทำงานผ่าน อปสข. แต่จะทำงานผ่านคณะอนุกรรมการมาตรา 41 ระดับจังหวัดแทน เพราะจะเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ใกล้ชิดปัญหาและพร้อมช่วยเหลือแก้ไขได้ทันท่วงที

เขตสุขภาพ สธ.และ อปสข.ทำงานร่วมกันได้หรือไม่

ทำได้ เพราะจากที่เห็น สธ.เคยให้ข่าว เห็นว่าจะมีการเชิญหลากหลายภาคส่วนเข้ามาทั้งท้องถิ่น กระทรวง และประชาชน ก็จะทำงานร่วมกันได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า อปสข.จะไปอยู่ในเขตสุขภาพของ สธ.นะ ยังคงแยกกันอยู่ เพราะบทบาทหน้าที่ต่างกัน เพียงแต่จะร่วมกันทำงาน

ยังมีเขตสุขภาพประชาชนอีกสับสนหรือไม่

เขตสุขภาพของ สธ. และ อปสข. เรามองเรื่องบริการเป็นหลัก ทั้งการจัดบริการ และเข้าถึงบริการ ส่วนเขตใหญ่จะพูดถึงหลากหลายปัญหาร่วมกัน ซึ่งเขตสุขภาพประชาชนก็จะสามารถทราบถึงปัญหา และมาร่วมกันทำงานได้ จริงๆ เขตสุขภาพในภาพรวมเป็นเรื่องดี หากมาทำงานร่วมกันเพื่อประชาชนจะดีมาก แต่การทำงานน่าจะเป็นการประชุมหารือและมีมติร่วม แต่ไม่ใช่หน่วยงานใดจะมากำกับให้ทำอะไร

ทราบว่ามีปัญหาในการจัดสรรงบฯ

อาจมาจากความเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งขณะนี้มี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ของบอร์ด สปสช.กำลังศึกษาเรื่องนี้ พร้อมทั้งอยู่ในกระบวนการหารือร่วมกันกับผู้แทนจาก สธ. โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะไม่พูดเรื่องนี้จนกว่าจะได้ข้อยุติ ซึ่งตามกำหนดต้องเสนอบอร์ด สปสช.ในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ ส่วนมติจะเป็นอย่างไร ค่อยว่ากัน เพราะโดยกระบวนการแล้วการเปลี่ยนแปลงทางการเงิน โดยกฎหมายต้องเป็นมติบอร์ด สปสช.

ปัญหานี้จะส่งผลต่อประชาชนหรือไม่

ไม่กระทบแน่นอน เพราะเรามีประกาศจัดสรรงบประมาณรูปแบบเดิมของ สปสช. จัดสรรเงินให้โรงพยาบาลในสังกัด สธ. ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557

ปัญหานี้มีทางออกอย่างไร

ทั้งสองฝ่ายควรทำความเข้าใจกันมากขึ้น ต้องเจรจากันจริงๆ และระบบที่จะออกแบบร่วมกันต้องตอบได้ว่าประชาชนจะได้อะไร เข้าถึงบริการและได้รับคุณภาพอย่างแท้จริง ทั้งโรคค่าใช้จ่ายสูง และโรคทั่วไป ประชาชนต้องไม่ยากจนล้มละลายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งแนวคิดนี้เชื่อว่าทุกคนก็เห็นด้วย

เหตุใด สปสช.ต้องแยกเงินเป็นกองทุนเงิน

ระบบการเงินการคลังของประเทศ มีเป้าหมาย คือ 1.ออกแบบให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะโรคค่าใช้จ่ายสูง ประกอบกับคุณภาพการบริการต้องดี 2.ประเทศต้องมีการควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งการออกแบบเงินเหมาจ่ายรายหัวนั้น จัดเป็นวิธีที่ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ แต่มีความเสี่ยงต่อการไม่ให้บริการโรคค่าใช้จ่ายสูง จึงต้องมีการออกแบบระบบเพื่อป้องกันความเสี่ยงนี้ ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลแห่งหนึ่งได้รับเงินเหมาจ่ายรายหัวจาก สปสช.คิดจำนวนประชากร 10,000 คน คูณค่าเหมาจ่ายประชากรเฉลี่ยหัวละ 1,000 บาท รวมประมาณ 10 ล้านบาท จะมีคนมาใช้บริการหรือไม่ใช้ก็ได้งบเหมาจ่ายเท่านี้ ปัญหาคือ หากโรงพยาบาลแห่งนี้ให้บริการทั้งโรคราคาแพงและโรคทั่วไป จะต้องขาดทุน และอาจเกิดการปฏิเสธผู้ป่วยได้ ดังนั้น การออกแบบบริการแบบเหมาจ่าย จำเป็นต้องแยกโรคค่าใช้จ่ายสูงออกมาเป็นการแบ่งออกเป็นหมวดต่างๆ เพื่อจัดทำเป็นเงินกองกลางเพื่อดูแลเฉพาะ เป็นการปกป้องประชาชนให้ได้รับบริการอย่างแท้จริง และป้องกันการปฏิเสธการรักษา แนวทางนี้ถือเป็นการเฉลี่ยความเสี่ยงระดับประเทศ

ออกแบบระบบนี้เพื่อประชาชน

เชื่อว่าทั้ง สธ. ทั้ง สปสช. ซึ่งเป็นหน่วยจัดบริการ และซื้อบริการ ย่อมมีเป้าหมายเพื่อประชาชนอยู่แล้ว สปสช.ถูกตั้งขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชน 48 ล้านคน ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ดูแลให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ ป้องกันการล้มละลายจากการเจ็บป่วย ดังนั้น กลไกระบบงบประมาณจึงพยายามออกแบบให้บรรลุภาระหน้าที่นี้

เลขาธิการ สปสช.ยืนยันว่า สิ่งสำคัญคือ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ และไม่ล้มละลายจากการรักษาพยาบาล

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557