ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : กลุ่มเภสัชกรยื่น 1,633 รายชื่อ ต่อสภาวิชาชีพ ค้านร่าง'พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537' ฉบับปรับปรุง ยันลิดรอน ไม่ชอบธรรม จี้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญถามความเห็นสมาชิก

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ผศ.ภก.ไกรสร ชัยโรจน์กาญจนา อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นำสมาชิกกลุ่มเภสัชกรคัดค้านร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 ฉบับปรับปรุง ประมาณ 10 คน เดินทางเข้ายื่นรายชื่อสมาชิกสภาเภสัชกรรม จำนวน 1,633 รายชื่อ เพื่อขอให้สภาเภสัชกรรมเปิดประชุมใหญ่วิสามัญ ระดมความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชฯ ฉบับปรับปรุง เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่ผ่านการประชาพิจารณ์แสดงความเห็นของสมาชิกสภาเภสัชกรรม และมีประเด็นที่ต้องคัดค้าน

ผศ.ภก.ไกรสร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้ยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชฯ ฉบับปรับปรุง ต่อสภาเภสัชกรรม ซึ่งมีอำนาจถอดถอนเรื่องออกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่อยู่ระหว่างเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งกลุ่มเภสัชกรที่เป็นสมาชิกสภาเภสัชฯทั่วประเทศ มีความเห็นแย้งในประเด็นต่างๆ ซึ่งล่าสุดได้รวบรวมรายชื่อได้กว่า 1,633 คน ถือว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการสภาเภสัชกรรมชุดปัจจุบัน ที่มีไม่ถึง 3,000 คน และการที่มีสมาชิกคัดค้านมากเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่ชอบธรรม

"นอกจากประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมแล้ว กลุ่มยังคัดค้านใน 4 ประเด็น คือ 1.นิยามของวิชาชีพเภสัชกรรม ซึ่งข้อเท็จจริงควรสั้น กระชับ บ่งบอกได้ชัดเจน โดยไม่ต้องผูกพันกับกฎหมายฉบับอื่น แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวนิยามกลับไปผูกโยงกับวิชาชีพอื่นและกฎหมายอื่นคือ เพิ่มหน้าที่ในการปรุงยาและจ่ายยาให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข และการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยยา กฎหมายว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ที่สำคัญยังตัดสาระสำคัญของนิยามที่เป็นสากลของวิชาชีพเภสัชกรรมคือ การปรุงยาและขายยาออกไป เท่ากับว่าเปิดช่องให้ผู้ที่ไม่ได้ตรวจคนไข้สามารถปรุงยาและจ่ายยาได้โดยที่ไม่ต้องมีการตรวจสอบ 2.การกำหนดให้เภสัชกรทุกคนต้องต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทุก 5 ปี ควรออกเป็นข้อบังคับ 3.ค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตฯ ฉบับละ 2,500 บาท ควรออกเป็นประกาศข้อบังคับเช่นกัน และ 4.เดิมผู้ที่สอบได้ใบประกอบวิชาชีพฯ จะมีอายุตลอดชีพ แต่การกำหนดให้ต่ออายุทุก 5 ปี เป็นการลิดรอนสิทธิ หากจะปรับให้มีการต่ออายุทุก 5 ปี ควรเป็นเฉพาะผู้ขอใบอนุญาตรายใหม่" ผศ.ภก.ไกรสรกล่าว และว่า ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับปรับปรุงนี้มีเนื้อหาเปิดช่องและสอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ...ที่เอื้อให้วิชาชีพอื่นสามารถขายยาได้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้กลุ่มเภสัชก็ออกมาคัดค้านการร่าง พ.ร.บ.ยาฯ เช่นกัน

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557