ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.เผย คนไทยติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะตายปีละ 38,000 คน สูงกว่าสหรัฐอเมริกา - ยุโรป เหตุใช้ยาไม่ครบตามหมอสั่ง-แถมใช้เลี้ยงสัตว์-ภาคเกษตร ยิ่งซ้ำปัญหาเชื้อดื้อยา กพย. ดึงหลายหน่วยงานร่วมเฝ้าระวังแก้ปัญหา ด้าน สปสช. เตรียมดันร้านยาคุณภาพเข้าระบบหลักประกันฯ อีกรอบ ช่วยคุมการจ่ายยาให้ผู้ป่วย

18 พ.ย.57 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวในงานประชุมวิชาการนานาชาติ วันรู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาปฏิชีวนะ : เป้าหมายการทำงานในอนาคต ว่า การดื้อยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะเป็นปัญหาสำคัญของทั่วโลกโดยในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการดื้อยาถึง 38,000 คนต่อปีจากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 67 ล้านคน จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาโดยร่วมมือกัน 3 ภาคส่วนคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นต้น เพราะปัจจุบันพบการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์จนทำให้เกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อมและเกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อต่อยาปฏิชีวนะตามมา เมื่อคนรับประทานเข้าไปก็ก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาด้วยเช่นกันเพราะฉะนั้นควรจำกัดให้ใช้ยาดังกล่าวกับมนุษย์ก่อน

นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งของเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะเป็นเพราะรับประทานไม่ครบตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งที่ผ่านมาคนที่ปฏิบัติได้ครบมีเพียง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเท่านั้น ทั้งนี้การแก้ปัญหาต้องร่วมมือกันหลายภาคส่วน และเร่งแก้ปัญหายาปลอมแถบชายแดนไทยโดยในส่วนของ สปสช.ได้เร่งผลักดันร้านขายยาคุณภาพของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ให้เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรับยาที่ร้านขายยาโดยไม่จำเป็นต้องไปรอคิวที่ รพ.ซึ่งเคยเสนอเข้าบอร์ดสปสช.แล้วติดเรื่องมุมมอง อย่างไรก็ตาม จะดำเนินการเสนอเข้าบอร์ดอีกครั้งหลังปีใหม่

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า ปัญหาการนำยาปฏิชีวนะมาใช้รักษาโรคพืชและผสมอาหารในสัตว์โดยอ้างว่าเพื่อรักษาโรคนั้นกฎหมายได้เปิดช่องเอาไว้ แต่ที่เป็นปัญหา คือ ไม่มีใครมาทำตามหลักเกณฑ์มานั่งตรวจสัตว์ทีละตัว ว่าตัวนี้ควรใช้ยาอะไรในการรักษา เพราะยุ่งยากลำบากเนื่องจากเขาทำเป็นระดับอุตสาหกรรม คือ เลี้ยงจำนวนมาก เกษตรกรก็จะอาศัยฉีดพ่นไปทั่วผสมอาหารก็อาศัยผสมอาหารให้สัตว์กินไปทีเดียวอ้างว่า เพื่อการรักษาป้องกันโรคไว้ก่อนการจัดงานในวันนี้ก็เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงปัญหาเพราะหากต้องการให้ยาปฏิชีวนะใช้ไปได้นาน ๆ ก็ต้องใช้ให้น้อยที่สุดและเหมาะสมที่สุดประเด็นสำคัญ คือ ต้องสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคเสียก่อนเป็นด่านแรกไม่ใช่ใช้ยามาช่วยป้องกันการเจ็บป่วย.