ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการศึกษาวิจัยร่วมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยโตเกียว  พบความเข้มข้นของฟลูออไรด์ในข้าวเหนียว เหตุใช้น้ำฟลูออไรด์สูงแช่ข้าวนาน หากบริโภคเข้าไปสะสมนาน อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดฟันตกกระ พร้อมแนะควรใช้น้ำที่มีฟลูออไรด์ต่ำไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร แช่ข้าวเหนียวหรือลดเวลาให้น้อยลง

เมื่อวันที่ 25 พ.ย.57 ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ “32nd CONFERENCE OF THE INTERNATIONAL SOCIETY FOR FLUORIDE, FLUOROSIS PREVENTION: FROM RESEARCH AT THE CELLULAR LEVEL TO MITIGATION” ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งที่ 32 “จากการวิจัยในห้องปฏิบัติการสู่การแก้ปัญหาชุมชน” ระหว่างวันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2557 เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน150 คน นำเสนอผลงานวิจัย ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมศึกษาดูงานในชุมชนจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เพื่อให้เห็นการแก้ไขปัญหาและการเฝ้าระวังปัญหาฟลูออไรด์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในชุมชน รวมทั้งวิธีการควบคุมหรือแก้ไขปัญหาฟลูออไรด์สูงในน้ำบริโภค ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพฟันของเด็กทั่วโลก โดยประเทศไทยมีรายงานฟันตกกระเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ แต่เดิมฟันตกกระพบในเขตภาคเหนือตอนบน เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และทางตะวันตกของประเทศ เช่น จังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี แต่ปัจจุบันมีรายงานพบฟันตกกระรุนแรงในหลายพื้นที่ในเขตภาคกลางและภาคใต้ เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม และสงขลา เป็นต้น ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีการนำน้ำบาดาลมาผลิตเป็นประปาชุมชนมากขึ้น ต่างจากในอดีตที่ประชาชนบริโภคน้ำฝน น้ำบ่อตื้นหรือน้ำผิวดินจากแม่น้ำลำธารซึ่งมีฟลูออไรด์ต่ำ โดยพบว่าน้ำบาดาลที่นำมาทำประปาชุมชนหลายแห่งมีฟลูออไรด์สูงกว่ามาตรฐานน้ำบริโภค โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเป็นพื้นที่ที่พบฟันตกกระมานาน สาเหตุเกิดจากน้ำบริโภคที่มีฟลูออไรด์เกินมาตรฐานและส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

ทพ.สุธา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พยายามศึกษาแหล่งฟลูออไรด์อื่น ๆ เช่น จากอาหารที่บริโภคเข้าไปในแต่ละวัน โดยเฉพาะข้าวเหนียวที่เป็นอาหารหลักของประชาชนในเขตภาคเหนือ เนื่องจากกระบวนการหุงข้าวเหนียวต้องนำข้าวแช่น้ำเป็นเวลานานข้ามคืนก่อนจะหุง ถ้าใช้น้ำที่มีฟลูออไรด์สูง มีโอกาสทำให้เกิดการสะสมในข้าว ซึ่งแม้ว่าประชาชนในพื้นที่เสี่ยงรู้ว่าน้ำบริโภคชุมชนมีฟลูออไรด์สูง แต่หลายพื้นที่ไม่สามารถเปลี่ยนแหล่งน้ำประปาได้ การซื้อน้ำบรรจุขวดหรือจัดทำโรงผลิตน้ำขวดในชุมชน ส่วนใหญ่ใช้ดื่มเป็นหลัก แต่น้ำที่ใช้ประกอบอาหารยังใช้น้ำจากแหล่งน้ำเดิมอยู่

“ทั้งนี้ ผลการศึกษาร่วมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า ความเข้มข้นของฟลูออไรด์ในข้าวเหนียวขึ้นอยู่กับปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำที่แช่ข้าว แต่จากการตรวจสอบข้าวเหนียวที่หุงตามบ้านพบฟลูออไรด์ในข้าวน้อยกว่าในห้องปฏิบัติการ สรุปว่าปริมาณฟลูออไรด์ในข้าวเหนียว นอกจากจะขึ้นอยู่กับปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำแล้ว ยังขึ้นอยู่กับวิธีหุงข้าวและระยะเวลาที่ใช้ในการแช่ข้าวด้วย ซึ่งผู้ศึกษาแนะนำว่าเพื่อความปลอดภัยควรใช้น้ำมีฟลูออไรด์ต่ำในการแช่ข้าว หรือลดเวลาในการแช่ข้าวให้น้อยลงเพื่อลดอัตราเสี่ยงของการได้รับฟลูออไรด์จากข้าวเหนียวให้น้อยลงด้วย ดังนั้น ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำที่มีฟลูออไรด์สูงเกินมาตรฐานมาดื่มกินหรือนำมาประกอบอาหารเพื่อป้องกันการเกิดฟันตกกระและผลกระทบต่อสุขภาพจากพิษของฟลูออไรด์” ทพ.สุธา กล่าว

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า ฟันตกกระเป็นความผิดปกติของฟันที่เกิดจากการได้รับฟลูออไรด์สูง ขณะที่ฟันกำลังสร้างในช่วงตั้งแต่เด็กแรกเกิดถึงอายุ 8 ปี  โดยลักษณะของฟันตกกระจะเห็นผิวฟันมีสีขาวขุ่นเหมือนชอล์ก  ในรายที่เป็นรุนแรงผิวฟันจะเห็นเป็นสีน้ำตาล เป็นหลุมหรือกะเทาะ ไม่สามารถรักษาให้หายกลับสู่ภาวะปกติได้ การแก้ปัญหาเพื่อให้ฟันสามารถใช้งานได้คือทำครอบฟัน ส่วนใหญ่ต้องทำประมาณ 4 ซี่ต่อคน และมีราคาสูง  8,000 – 10,000 บาทต่อคน สาเหตุหลักของฟันตกกระมาจากน้ำบริโภคที่มีฟลูออไรด์สูง ดังนั้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้มีน้ำที่สะอาดปลอดภัยต่อการบริโภค กรมอนามัยจึงได้กำหนดมาตรฐานปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำประปาที่มีคุณภาพดีดื่มได้ไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร และยังได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แก้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคบรรจุขวดปิดสนิทไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร จากเดิมที่อนุญาตที่ 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร