ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองนายกฯ ชูองค์กรรัฐตาม พ.ร.บ. เฉพาะ ทำงานรวดเร็ว คล่องตัว มีอิสระ บรรลุวัตถุประสงค์ดีกว่าหน่วยงานราชการ แนะ สปช. สนช. ใช้เป็นต้นแบบบริหารหน่วยงานรัฐ ปฏิรูปประเทศ เผยมีแนวโน้มจัดตั้งแบบองค์กระตระกูล ส เพิ่มขึ้น แต่ไม่ควรมีมาก เพราะอาจจะเป็นศูนย์อำนาจใหม่ และทำระบบข้าราชการยุ่งยาก ย้ำหน่วยงานควบคุมกำกับตรวจสอบ ยังควรเป็นหน่วยงานราชการ ห่วงกลายเป็นศูนย์รวมอำนาจใหม่ ละเลยการตรวจสอบ

       

เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย.57 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “หน่วยงานรัฐตาม พ.ร.บ. เฉพาะ : นวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” ภายในการประชุมวิชาการ 15 หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. เฉพาะ 2557 ว่า หน่วยงานรัฐที่จัดตั้งขึ้นจากการมี พ.ร.บ. เฉพาะทั้ง 15 แห่ง สามารถดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ได้ดีกว่าหน่วยงานรัฐปกติ ถือเป็นนวัตกรรมที่ทำให้งานของรัฐไปได้ดี เป็นต้นแบบหนึ่งในการที่จะนำมาใช้ในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) น่าจะคิดถึงและนำไปใช้เป็นรูปแบบในการปฏิรูประบบการบริหารหน่วยงานรัฐ โดยใช้กลไกแบบ พ.ร.บ. เฉพาะ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานเหล่านี้มีความหลากหลายในการดำเนินงาน ทั้งด้านนโยบาย สนับสนุน ปฏิบัติ และผสมผสาน อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการทำงานแบบผสมผสานทำทั้งด้านนโยบาย สนับสนุน และปฏิบัติ
       
นายยงยุทธ กล่าวว่า หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. เฉพาะ มีข้อดี คือ ตอบสนองการปฏิรูปด้านการกระจายอำนาจ การทำงานมีความคล่องตัว อิสระ รวดเร็ว สามารถสร้างเครือข่ายในแนวราบ และการผลักดันแนวความคิดและการปฏิบัติใหม่ ส่วนข้อเสียคือ มีความโน้มเอียงที่จะเป็นศูนย์อำนาจใหม่ ยิ่งองค์กรที่ตั้งมานาน มีพนักงานจำนวนมาก ก็ยิ่งมีขั้นตอนการทำงานมาก จึงต้องพยายามขจัดออกไป รวมถึงการประสานกับหน่วยงานภายนอก ความเชื่อมโยงกับหน่วยงานบนและล่าง และการละเลยแนวคิดและการแนวปฏิบัติเดิมของราชการที่มีส่วนดี โดยเฉพาะการตรวจสอบในระดับต่างๆ สำหรับสิ่งที่ต้องปรับปรุง ได้แก่ 1. การประเมินประสิทธิผลและประสิทธิภาพของตนเองและการตอบสนองต่อระบบประเมินภายนอก 2. การปรับปรุงระบบงบประมาณให้โปร่งใสและมีประสิทธิผลที่ดี 3. การปรับปรุงระบบริหารงานบุคคล ทั้งขวัญกำลังใจ ระบบสวัสดิการ ค่าตอบแทนและการเคารพของสังคม
       
“หน่วยงานราชการยังคงเป็นเสาหลักของประเทศ ไม่ใช่ต้องมาเป็นหน่วยงานตาม พ.ร.บ. เฉพาะทั้งหมด โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการควบคุมกำกับ หรือการรับใช้ประชาชนตามปกติก็ยังต้องเป็นหน่วยงานราชการ เพราะหากมีหน่วยงานตาม พ.ร.บ. เฉพาะมากเกินไป จะทำให้การดำเนินงานของระบบข้าราชการยุ่งยาก ส่วนจะมีเพิ่มขึ้นกี่หน่วยงาน และเป็นหน่วยงานในส่วนใดขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ แต่มีแนวโน้มที่จะมีการจัดตั้งเพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญ หน่วยงานตาม พ.ร.บ. เฉพาะจะต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการให้ได้ ไม่ใช่ทำงานแบบโดดเดี่ยว” รองนายกฯ กล่าว
       
นายยงยุทธ กล่าวว่า สำหรับการประชุมดังกล่าวจะเป็นการสรุปบทเรียน โดยมีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เข้ามาช่วยทำการวิจัย​การทำงานที่ได้จากหน่วยงานเหล่านี้ เพื่อนำไปเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูป ส่วนในเรื่องของการกลายเป็นศูนย์รวมอำนาจนั้น ก็จะมีการหากลไกขึ้นมาเพื่อกำกับ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการวางกรอบการกำกับการทำงานของหน่วยงานเหล่านี้อยู่ สำหรับเรื่องการตรวจสอบการทำงาน ก็มีกระบวนการตรวจสอบทั้งภายใน ภายนอกหน่วยงาน และมีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน คอยตรวจสอบและนำผลการตรวจสอบเข้าที่ประชุมสภาด้วย อย่างไรก็ตาม การสรุปการทำงานที่ได้ จะมีการนำเสนอผ่าน สปช. ต่อไป
       
นายอานุภาพ รักษ์สุวรรณ คณะวิจัย ศูนย์บริการวิชาการ นิด้า กล่าวว่า การเปรียบเทียบความเหมือนและแตกต่างขององค์กรเหล่านี้ พบว่า มีแนวคิดการจัดตั้งเหมือนกัน คือ การจัดการภาครัฐแนวใหม่ ทุกหน่วยงานแยกออกมาจากกระทรวงเพื่อความเป็นอิสระ กลายเป็นองค์การบริหารตนเอง อยู่ภายใต้การกำกับดูแล รูปแบบของการจัดตั้ง พบว่าเป็นการจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. โดยมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน แต่สถานะของหน่วยงาน กรรมการ อำนาจของกรรมการ อำนาจหน้าที่สำนักงาน และการตรวจสอบหน่วยงานจะเหมือนกัน เช่นมีความเป็นนิติบุคคล ได้รับงบประมาณแผ่นดิน มีระบบการตรวจสอบ การจัดทำรายงาน งบดุล บัญชีการเงิน เป็นต้น แต่อาจมีความแตกต่างกันบ้างในการรายงานผลการทำงาน เช่น รายงานต่อสภา ต่อ ครม. หรือต่อประชาชน ทั้งนี้ จากการศึกษาพบแนวปฏิบัติที่ดี คือ มีการทำงานเป็นเครือข่าย มีองค์ประกอบของบอร์ด ความร่วมมือหน่วยงานที่มีภารกิจใกล้เคียงกัน การพึ่งพาตัวเองทางการเงิน อย่างไรก็ตาม การมีเป้าหมายขององค์กรตนเอง บางครั้งทำให้บทบาทในการทำงานไม่ตอบสนองนโยบายและความต้องการของประเทศ ซึ่งเริ่มมีการปรับตัวมากขึ้น
       
ทั้งนี้ องค์กรจัดตั้งขึ้นตามพรบ.เฉพาะมี 15 องค์กร ประกอบด้วย 1. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) 2. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 3. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 4. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 5. สถาบันอนุญาโตตุลาการ 6. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) 7. สปสช. 8. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) 9. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) 10. สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) 11. สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) 12. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 13. สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา (คส.) 14. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ 15. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)