ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอรัชตะ” เปิดประชุมนานาชาติ “PD First Policy” ครั้งแรกภูมิภาคอาเซียน เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดำเนินนโยบายและให้บริการล้างผ่านช่องท้อง (CAPD) สู่การพัฒนาศักยภาพดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังอย่างมีคุณภาพ เผยหลัง 7 ปี ดำเนินนโยบายประสบผลสำเร็จ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา ส่งผลไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ CAPD อาเซียน

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติ “นโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก” (PD First Policy) ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 - 28 พฤศจิกายน 2557 ณ โรงแรมคอร์ทยาร์ด แมริออท กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายองค์กรในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิร๊อคกี้เฟลเลอร์ ไนท์ และ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เพื่อรวบรวมและเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคในการกำหนดแนวทางและนโยบายการดำเนินการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไตวายอย่างเข้มแข็ง
       
ทั้งนี้ มีผู้แทนจากหน่วยงานระบบสาธารณสุขและสุขภาพจากประเทศต่างๆ เข้าร่วม อาทิ รัฐมนตรีสาธารณสุขประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, ผู้แทนรัฐมนตรีสาธารณสุขประเทศกัมพูชา และผู้แทนหน่วยงานประกันสุขภาพ ทั้งจากประเทศฟิลิปปินส์ ฮ่องกง เวียดนาม และ มาเลเซีย ตลอดจนผู้แทนจากโรงเรียนแพทย์จากประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น
       
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้กำหนดสิทธิประโยชน์บำบัดผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2550 โดยเน้นวิธีการล้างไตผ่านช่องท้อง ( CAPD: Continuous Ambulatory Peritaneal Dialysis) เป็นการรักษาในขั้นแรก นอกจากการฟอกไตผ่านเครื่อง และการปลูกถ่ายไต สามารถช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง ซึ่งวิธีล้างไตผ่านช่องท้องนับเป็นรักษาผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่เป็นมาตรฐาน ประหยัด ใช้บุคลากรทางการแพทย์ไม่มาก และผู้ป่วยสามารถล้างไตได้เองที่บ้าน ทำให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ต้องเสียเวลามารับการฟอกไตที่หน่วยบริการสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง 
       
ทั้งนี้ ช่วง 7 ปีของการดำเนินนโยบายสิทธิประโยชน์ล้างไตผ่านช่องท้อง จากความร่วมมือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบการดูป่วยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่การให้บริการ การดูแลรักษา รวมไปถึงการจัดส่งน้ำยาล้างไตที่ส่งตรงถึงบ้านผู้ป่วย ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่เพียงแต่มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น แต่ยังมีคุณภาพชีวิตมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับและเป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานล้างไตผ่านช่องท้อง ที่ผ่านมา จึงมีผู้แทนจากประเทศต่างๆ เข้าดูการดำเนินนโยบายนี้ของไทยอย่างต่อเนื่อง
       
“ไม่แต่เฉพาะประเทศไทยที่ให้บริการการล้างไตผ่านช่องท้อง แต่หลายประเทศได้นำวิธีการนี้ไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศไตหวัน ฮ่องกง และอินเดีย รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งในการประชุมครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาการดูแลผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องของแต่ละประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยที่ได้มีการดำเนินนโยบาย ส่งผลสำเร็จให้ผู้ป่วยไตเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง”
       
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเข้ารับการล้างไตผ่านช่องท้อง 17,281 คน ขณะที่หน่วยบริการ CAPDเพิ่มขึ้นจาก 23 แห่ง ในปี 2550 เป็น 175 แห่ง มีศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีและฝึกอบรม 4 เครือข่าย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตที่ผ่านการอบรมการผ่าตัดวางสายล้างไตทางช่องท้องมีจำนวนเพิ่มขึ้น 266 คน พยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการอบรมหลักสูตร 4 เดือน มีจำนวน 13 รุ่น รวม 466 คน และเริ่มมีการอบรมให้กับพยาบาลที่ปฏิบัติงานใน รพ.สต. ที่เป็นลูกข่ายรับส่งต่อดูแลผู้ป่วยในชุมชนร่วมกับ รพ. แม่ข่าย และยังมีชมรมเพื่อนโรคไต จิตอาสาและมิตรภาพบำบัดเพื่อผู้ป่วยโรคไตในจังหวัดต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก