ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมออกประกาศเพิ่มเมืองบามาโก ประเทศมาลี เป็นเขตระบาดโรคอีโบลา ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 เพื่อความเข้มแข็งการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันโรค พร้อมทั้งออกประกาศถอนชื่อประเทศคองโกออกจากเขตโรคระบาดอีโบลาเนื่องจากไม่พบผู้ป่วยครบ 42 วัน ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการประกาศตามกฎหมาย ส่วนชายเซียร์ราลีโอนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโรคติดต่อไทย ขณะนี้สุขภาพดี อยู่ระหว่างขั้นตอนการออกนอกประเทศภายใต้การดูแลของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง สถานการณ์ล่าสุด ไทยมีผู้ที่อยู่ในข่ายต้องติดตามเฝ้าระวัง 12 คน ติดตามได้ทุกคน

วันนี้ (1 ธันวาคม 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมวอร์รูมติดตามสถานการณ์โรคอีโบลา ว่า ล่าสุดองค์การอนามัยโลกรายงานถึง 28 พฤศจิกายน 2557 มีผู้ป่วยทั้งหมด 16,211 ราย เสียชีวิต 6,963 ราย ประเทศที่มีผู้ป่วยแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องคือ เซียร์ราลีโอน ส่วนกินีและไลบีเรียสถานการณ์ทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง ส่วนเมืองบามาโก ประเทศมาลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศกินี สัปดาห์ที่แล้วมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1 ราย กระทรวงสาธารณสุขเตรียมออกประกาศให้เมืองนี้เป็นเขตติดโรคใหม่เพิ่มจากเดิมที่มี 3 ประเทศ คือกินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน เพื่อความเข้มแข็งการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันโรค ขณะเดียวกันจะออกประกาศถอนชื่อประเทศคองโกออกจากเขตติดโรคเนื่องจากไม่พบผู้ป่วยครบ 42 วัน หลังจากที่ประกาศถอนชื่อเมืองลากอส ประเทศไนจีเรียไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการประกาศตามกฎหมาย

มาตรการหลักของไทยที่ดำเนินการเข้มแข็งเป็นที่ยอมรับของนานาชาติขณะนี้คือ การเฝ้าระวังติดตามอาการบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดทุกราย ข้อสังเกตขณะนี้ ผู้ที่เดินจากประเทศที่มีการระบาดเข้าประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่ไปทำงาน ส่วนผู้ที่มีสัญชาติของประเทศที่มีการระบาดมีแนวโน้มลดลง กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการเป็นมาตรฐานเดียวกัน จนถึงวันนี้ได้ตรวจผู้เดินทางทั้งหมด 3,000 กว่าคน อยู่ในข่ายติดตามอาการภายใน 21 วันหลังเดินทางออกจากพื้นที่ระบาด 12 คน ติดตามได้ครบทุกคน ส่วนชายเซียร์ราลีโอนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโรคติดต่อไทย ขณะนี้ร่างกายแข็งแรงดี อยู่ระหว่างขั้นตอนออกนอกประเทศภายใต้การดูแลของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า โรคอีโบลาอาจจะระบาดต่อเนื่องจนถึงปีหน้า กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนรับมือโดยได้จัดแผนปฏิบัติการทั้งระบบ ในปี 2558 วงเงิน 198 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งการเฝ้าระวัง การรักษาพยาบาล การพัฒนาห้องแยกและห้องตรวจปฏิบัติการ การควบคุมป้องกันโรค การให้ความรู้ความเข้าใจประชาชน และการระบบจัดค่าเสี่ยงภัยบุคลากรการแพทย์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงติดโรคนี้มากที่สุด สำหรับงบประมาณปี 2557 ที่ได้รับจัดสรรมา 99.7 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการและจัดซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมอีก 11,000 ชุด และจะจัดอบรมบุคลากรของมหาวิทยาลัยต่างๆ และกระทรวงอื่นๆ วงเงิน 9.8 ล้านบาท โดยที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้จัดอบรมบุคลากรในสังกัดทั่วประเทศในการดูแลผู้ป่วยโรค อีโบลาและการป้องกันโรค รวมทั้งหมด 4,696 คน เป็นแพทย์ 480 คน พยาบาล 1,394 คน เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ 665 คน หน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว 457 คน และเจ้าหน้าที่อื่นๆ และจะจัดอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการขยะติดเชื้อทั่วประเทศ ในวันที่ 25-26 ธันวาคม 2557