ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขมีหลักการที่สำคัญคือ ชดเชยความเสียหายจากบริการสาธารณสุขโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด, ช่วยแก้ไขความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้, ช่วยลดการฟ้องร้องระหว่างแพทย์กับคนไข้, เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์และคนไข้, มีการพัฒนาระบบความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงจากความเสียหายจากการบริการสาธารณสุขให้น้อยที่สุด, ให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการบรรเทาโทษหรือไม่ลงโทษผู้ให้บริการสาธารณสุขในกรณีที่ถูกฟ้องคดีอาญา ข้อหาการกระทำโดยประมาท...โดยมีเหตุผลจากกลุ่มประชาชน ผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข และกลุ่มประชาชนกลุ่มอื่นๆ ถึงความจำเป็นของร่าง พ.ร.บ.นี้ว่า

1.มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ครอบคลุมเฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่รวมไปถึงผู้ที่ใช้สิทธิประกันสังคมและสิทธิข้าราชการ, การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไม่เพียงพอ, เพดานการได้รับเงินช่วยเหลือนั้นน้อย เช่น พิการถาวรหรือเสียชีวิตได้รับเงินสูงสุดสี่แสนบาท จึงต้องมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งนอกจากมีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ต้องมีการจ่ายเงินชดเชยที่เหมาะสมด้วย

2.คนไข้ไม่ค่อยเรียกร้องสิทธิเมื่อได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขและไม่ได้รับความช่วยเหลือ ขณะกลไกที่ให้ความเป็นธรรมในปัจจุบัน เช่น แพทยสภา ศาล ฯลฯ ใช้เวลานานและยากลำบากมากที่จะพิสูจน์ความถูกผิด ที่เกิดขึ้น

3.ความขัดแย้งระหว่างคนไข้กับแพทย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากสาเหตุหลายประการ เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.นี้สามารถลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้ได้

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ.นี้ได้รับการร่างโดยหลายคณะบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญทางกฎหมาย แต่เมื่อนำร่าง พ.ร.บ.บรรจุวาระเสนอให้สภาพิจารณา ก็จะมีการประท้วงจากบุคลากรสาธารณสุข ตัวอย่างเช่น ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ได้มีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในปี พ.ศ.2553 ขอให้ทบทวนมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. เพราะสาระร่างกำหนดให้ผู้เสียหายสามารถฟ้องอาญาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ เป็นต้น

ร่าง พ.ร.บ.จึงคงเป็นร่าง พ.ร.บ.มานานเกือบ 10 ปี

อันที่จริง แพทย์ทั่วไปเห็นข้อดีของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขอยู่ แต่เมื่อพิจารณาลงรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. การตีความที่เกิดขึ้น ทำให้มองเห็นว่าสุดท้ายร่างจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ เพราะไม่สามารถป้องกันการฟ้องอาญาได้แม้แต่น้อยเพราะเป็นสิทธิของผู้เสียหายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งสร้างผลกระทบทางลบระยะยาวต่อระบบ การอาศัยเงินเป็นตัวตั้งจะเกิดการทำลายความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างแพทย์กับคนไข้ที่เคยมีมาแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นการทำลายความศรัทธาความดีงามของระบบสาธารณสุขโดยรวม จนทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลวได้ จึงเกิดกระแสคัดค้านขึ้น

ข้อดีของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขมีอะไรบ้าง

1.ผู้เสียหายทุกสิทธิมีสิทธิได้รับเงินสองต่อ ทั้งเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชยโดยไม่ต้องพิสูจน์หาผู้กระทำผิด โดยเงินชดเชยนั้นประกอบด้วย เงินใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการรักษาพยาบาล, ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้, ค่าชดเชยจากความทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจ, ค่าชดเชยในกรณีพิการหรือทุพพลภาพ, ค่าชดเชยในกรณีที่ถึงแก่ความตาย, ค่าชดเชยการขาดไร้อุปการะกรณีที่ถึงแก่ความตายและมีทายาทที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู, ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่คณะกรรมการกำหนด การพิจารณาจ่ายเงินชดเชย ได้คำนึงถึงสภาพความเสียหาย สภาพจิตใจผู้เสียหาย สิทธิประโยชน์ที่ได้รับตามกฎหมายอื่นๆ รวมถึงพฤติกรรมแวดล้อมด้วย

2.ขยายระยะเวลาที่จะยื่นคำร้องความเสียหายจากการรับบริการ จากเดิม 1 ปี ตามมาตรา 41 มาเป็นภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ความเสียหาย อีกทั้งอายุความการเรียกร้องเพิ่มเติมให้นาน 10 ปี หากพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากการรับบริการทางสาธารณสุข

ผลกระทบทางลบของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายมีดังนี้

1.เกิดความโกลาหลในระบบสาธารณสุข ต่อไปคนไข้ทุกคนที่เจ็บป่วยรักษาไม่หาย หรือได้รับผลกระทบจากการรักษา หรือเสียชีวิต จะขอเงินช่วยเหลือจาก พ.ร.บ.นี้ทุกคน เพราะไม่มีข้อห้าม ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีขั้นตอน มีแต่การส่งเสริมสนับสนุน ขณะที่การรักษาพยาบาลในเมืองไทยในภาครัฐเป็นการรักษาแบบรัฐสวัสดิการ ที่คนไข้ไม่ต้องร่วมจ่าย ไม่ต้องช่วยค้ำระบบสาธารณสุขให้รอด แต่รับผลประโยชน์ เมื่อเกิดความเสียหาย จากการเจ็บป่วยหรือตาย ไม่ว่าจะมีฐานะอย่างไร

2.ไม่สามารถยุติการฟ้องทางอาญาและการถูกไล่เบี้ยแม้มาตรา 41 ซึ่งพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นไม่พิสูจน์ถูกผิด ไม่ได้ขึ้นโรงขึ้นศาล และสามารถลดการฟ้องร้องได้ส่วนหนึ่ง ก็ยังทำให้บุคลากรทางสาธารณสุขผู้เกี่ยวข้องเป็นทุกข์ที่ต้องไปให้การ ทั้งกลัวถูกไล่เบี้ยตามมาตรา 42 บุคลากรทางสาธารณสุขที่ถูกฟ้องร้องมักเกี่ยวข้องกับการตรวจรักษาคนไข้จำนวนมาก เป็นคนขยัน ทำงานหนัก ยิ่งร่าง พ.ร.บ.นี้ เปิดช่องให้ผู้เสียหายฟ้องร้องแพทย์ได้ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งแม้ได้ค่าช่วยเหลือเบื้องต้นไปแล้ว และเมื่อรับเงินชดเชย มีการทำสัญญาประนีประนอมให้ผู้เสียหายสละสิทธิเรียกร้องและยุติการดำเนินคดีทางแพ่ง แต่ไม่สามารถทำให้ยุติคดีอาญาเพราะเป็นสิทธิของผู้เสียหาย ทั้งหากผู้เสียหายไม่รับเงินชดเชยและฟ้องศาล หากศาลยกฟ้องและไม่ได้ห้ามกองทุนจ่ายเงินชดเชย ยังสามารถรับเงินชดเชยได้ บางร่าง พ.ร.บ.ไม่ให้ฟ้องแพทย์แต่ให้ฟ้องกองทุนแทน ซึ่งจะประกันได้หรือไม่ว่ากองทุนจะไม่มาไล่เบี้ยแพทย์

ความรู้สึกไม่มั่นคงจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับคนไข้เปลี่ยนไป จากรักใคร่เห็นใจเอื้ออาทรต่อกัน จะกลายเป็นความหวาดระแวงซึ่งกันและกันเพราะกลัวจะถูกฟ้อง แพทย์ผู้รักษาพยาบาลอาจสั่งตรวจและให้การรักษาพยาบาลมากเกินไปเพื่อป้องกันความผิดพลาด ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นซึ่งเป็นภาระของโรงพยาบาลและของคนไข้เอง หรือตรวจรักษาน้อยเกินไป ไม่แน่ใจก็ส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่น ซึ่งทั้ง 2 กรณีผลกระทบจะเกิดกับคนไข้ยากจนด้อยโอกาส เพราะคนที่มีฐานะสามารถเลือกการรักษาพยาบาลตามต้องการได้

3.เงินเท่าไหร่ก็ไม่พอ เงินที่จ่ายให้ผู้เสียหายต้องจ่ายสองทบทั้งให้เบื้องต้นและชดเชยแบบปลายเปิด การใช้เงินเป็นตัวนำในการแก้ไขปัญหาจะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของแพทย์และคนไข้มีช่องว่างถ่างไกลออกไปเรื่อยๆ เพราะผู้เสียหายทุกคนน่าสงสารน่าเห็นใจทั้งนั้น หากกรรมการส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์ เพราะอ้างว่าการจ่ายเงินตามร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ย่อมไม่สามารถทราบได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการดำเนินของโรคซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือไม่

ทั้งมาตรฐานทางการแพทย์ของสถานพยาบาลแต่ละระดับไม่เท่ากัน บางสถานพยาบาลขาดแคลนบุคลากร, เครื่องมือทางการแพทย์, เทคโนโลยี ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวแปรของมาตรฐานการรักษา

ทั้งมีเหตุเสียหายมากมายที่เกิดจากการละเลยการดูแลสุขภาพของคนไข้ คาดการณ์ว่าเมื่อร่าง พ.ร.บ.นี้คลอดออกมาเป็นกฎหมาย เงินที่ใช้เพื่อการนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีขีดจำกัด จากปีละหลายพันล้าน กลายเป็นหมื่นล้าน เพราะใครก็อยากได้เงิน

ยิ่งมีโมเดลตัวอย่างว่า หากเป็นกรณีนั้นกรณีนี้สามารถได้เงิน ทุกคนที่คล้ายกรณีที่เกิดต้องได้เงินไม่น้อยกว่ากัน แม้บางร่าง พ.ร.บ.จะอ้างว่าหากเป็นสถานพยาบาลของรัฐ ให้รัฐเป็นคนจ่ายเงินสมทบแทน แต่ไม่ต่างอะไรกับการควักเงินจากกระเป๋าซ้ายแทนกระเป๋าขวา เพราะเงินของรัฐก็เป็นเงินของประชาชนทุกคน

4.มีสองมาตรฐาน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีระเบียบกำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนที่สมัครใจจ่ายเงินสมทบกองทุน โดยสมทบมากขึ้นหากเกิดการฟ้องร้องมากขึ้น มีบทบัญญัติให้ปรับ, ให้เสียดอกเบี้ย ถ้าจ่ายเงินไม่ทันตามกำหนด มีการบังคับชำระเงิน หากไม่ทำตามให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษา และบังคับคดีให้มีการยึด อายัดทรัพย์สินเพื่อให้ ชำระเงิน

เรื่องนี้มีผลกระทบกับสถานพยาบาลเอกชนทั้งที่สมัครและไม่สมัครใจเข้าร่วม พ.ร.บ.ที่สมัครใจ...ต้องเสียเงิน, ที่ไม่สมัครใจ...จะเพิ่มโอกาสการฟ้องร้องของคนไข้เพื่อเรียกร้องเงิน

เรื่องสถานพยาบาลเอกชนนี้องค์กรภาคประชาชนส่วนหนึ่งไม่เข้าใจ คิดแต่ว่าเป็นแพทย์พาณิชย์ อันที่จริงรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐและเอกชนร่วมมือกันให้บริการประชาชน ทั้งหากไม่มีสถานพยาบาลเอกชนช่วยรองรับคนไข้ส่วนหนึ่ง สถานพยาบาลรัฐจะไม่สามารถรองรับภาระรักษาคนไข้ทั้งหมดได้

5.ยุติจิตวิญญาณของการเป็นแพทย์ ต่อไปใครอยากเป็นแพทย์เพื่อช่วยผู้อื่น ผู้คนเรียกร้องให้แพทย์เสียสละ โดยเอ่ยอ้างคุณธรรมจริยธรรมตลอดเวลา แต่ผู้คนส่วนหนึ่งมองแพทย์ในแง่ร้าย ไม่เข้าใจธรรมชาติของโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ว่าแพทย์จะรักษาดี มีคุณธรรมอย่างไร คนไข้เจ็บไม่ได้ ตายไม่ได้ ต่อไปใครอยากจะเป็นแพทย์ที่ทำงานหนัก เพราะความหวังดีต่อ ผู้อื่น การเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนอาจทำให้ตนเอง ติดคุกได้

แพทย์ที่เก่งจะทนทำงานหนักเงินน้อยชีวิตเครียดไปทำไม ตามมาด้วยสมองไหลออกจากสถานพยาบาลของรัฐ

สรุป ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่ควรจะเป็น ต้องไม่กระทบทางลบต่อคนไข้ บุคลากรทางการแพทย์ และประเทศชาติทั้งระยะสั้นและระยะยาว ควรระงับการนำร่าง พ.ร.บ.ที่อาจมีปัญหาเข้าสภา เพื่อพิจารณาหรือทำประชาพิจารณ์อย่างรอบด้านจนกระจ่างเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด การปล่อยให้ร่าง พ.ร.บ.ที่เป็นปัญหากลายเป็น พ.ร.บ.บังคับใช้ อาจทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลว เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติจนไม่อาจเยียวยา

ดังโครงการหลายโครงการที่หลักการดี แต่เมื่อลงมือปฏิบัติกลับสร้างปัญหาที่ไม่อาจย้อนกลับไปแก้ไขได้

ผู้เขียน : พญ.ชัญวลี ศรีสุโข email : chanwalee@srisukhol.com

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 1 ธันวาคม 2557