ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : นักวิชาการชี้คุมขายเหล้าเทศกาลปีใหม่-สงกรานต์ไม่ช่วยแก้ปัญหา ปชช.หันซื้อตุนไว้แทน แนะห้ามดื่มเฉพาะที่น่าจะได้ผลมากกว่า 'หมอสมาน'แจงไม่ห้ามพกเข้าร้าน แต่ดูข้อเท็จจริงแอบขายหรือไม่ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท ระบุไม่ได้แตกต่างจากที่ให้งดขายวันพระใหญ่    

ความคืบหน้ากรณีสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผลักดันออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวม 5 ฉบับ โดยเฉพาะฉบับกำหนดห้ามวันขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันที่ 31 ธันวาคม วันที่ 1 มกราคม และวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับในช่วงเทศกาล โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีรัฐมนตรีว่าการ สธ.เป็นประธานในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาชี้ขาด จนเกิดกระแสคัดค้านโดยเฉพาะจากกลุ่มธุรกิจผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยวนั้น

นพ.สมาน ฟูตระกูล 

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า มาตรการควบคุมทางกฎหมายดังกล่าว เพื่อห้ามร้านขายเหล้าจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาดังกล่าว คือ วันที่ 31 ธันวาคม วันที่ 1 มกราคม และวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาล แต่ไม่ได้ห้ามดื่ม ส่วนที่จะมีการซื้อตุนไว้เพื่อฉลอง ในร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ก็ไม่ได้ห้าม ยังสามารถดื่มฉลองกันได้ เพียงแต่ที่ห้ามขายใน 2 ช่วงเทศกาลดังกล่าวเพราะเป็นช่วงวันที่มีการเดินทางกลับบ้านกลับต่างจังหวัดกันมาก หากมีการดื่มโดยเฉพาะซื้อหามาดื่มกันอย่างต่อเนื่อง ก็ย่อมเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ เกิดอันตรายสูญเสียชีวิต ซึ่งการกำหนดวันห้ามขายดังกล่าวไม่ได้แตกต่างจากการกำหนดห้ามขายเหล้าในวันอาสาฬหบูชาและวันวิสาขบูชา อีกทั้งการเฉลิมฉลองช่วงปีใหม่และสงกรานต์ควรอยู่กับครอบครัวจะไม่ดีกว่าหรือ

นพ.สมานกล่าวต่อว่า ส่วนที่มีผู้กังวลว่าจะกระทบกับการท่องเที่ยวนั้น เชื่อว่าในโรงแรมหรือที่พักต่างๆ ที่มีมินิบาร์ ก็สามารถเขียนโน้ตแจ้งให้นักท่องเที่ยวหรือผู้มาพักได้ทราบว่า ในช่วงวันดังกล่าวขอความร่วมมือในการงดจำหน่าย เชื่อว่านักท่องเที่ยวเข้าใจได้ เพราะหากมาท่องเที่ยวก็สามารถซื้อมาเองหรือซื้อก่อนวันห้ามได้ ดังนั้นมาตรการนี้หากพิจารณาจริงๆ จะกระทบกับผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า

ผู้สื่อข่าวถามถึงผลกระทบในส่วนลานเบียร์ ผับ บาร์ในช่วงวันปีใหม่ ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาดื่มฉลองกันมาก นพ.สมานกล่าวว่า ก็ต้องปรับเปลี่ยน อย่างร้านค้า ร้านอาหารไม่กระทบ เพราะยังจำหน่ายอาหารเครื่องดื่มอื่นๆ ได้ ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนผับ บาร์ หากหยุดเพียง 2 วัน เพื่อประโยชน์ต่อสังคมจะดีกว่าหรือไม่ ที่สำคัญค่านิยมของไทยในการฉลองเทศกาลปีใหม่ในอดีตไม่ได้เป็นเช่นนี้ คนไทยถูกหล่อหลอมด้วยค่านิยมผิดๆ แบบนี้มานานร่วม 20 ปีแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงก็อาจไม่ชิน แต่สักพักก็จะชินกับค่านิยมดีๆ ได้ เหมือนกับกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งจัดระเบียบชายหาดต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา แรกๆ ก็อาจรู้สึกไม่คุ้น แต่ภาพที่ออกมาดูดีกว่าหรือไม่

"ขอย้ำว่ามาตรการที่ผลักดันครั้งนี้ไม่ได้ห้ามดื่ม เราห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น หากร้านค้าไหนฝ่าฝืนจะมีโทษตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่มีหลายคนกังวลว่า หากในร้านขายพวกมิกเซอร์ น้ำแข็ง โซดา โดยนักดื่มนำเหล้าเข้าไปเองจะมีความผิดหรือไม่นั้น จริงๆ แล้วกฎหมาย ไม่ได้เอาผิดคนดื่ม แต่คงต้องดูข้อเท็จจริงว่าทาง ร้านแอบจำหน่ายหรือไม่ อย่างกรณีลานเบียร์ขายเบียร์สด หากพบมีนักดื่มกำลังดื่มเบียร์สดเย็นๆ ก็ต้องมาดูความเป็นไปได้ที่นักดื่มจะหิ้วเบียร์สดๆ เย็นๆ มาจากบ้านได้หรือไม่" นพ.สมานกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามกรณีหลายคนมองว่ามาตรการนี้สุดโต่งเกินไป เหตุใดไม่ใช้วิธีรณรงค์หรือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้มงวดตรวจจับพวกดื่มแล้วขับ นพ.สมานกล่าวว่า ก็ต้องทำควบคู่กันไป แต่การที่มีคนออกมาต่อต้านมาตรการนี้โดยเฉพาะพวกธุรกิจน้ำเมา ก็แสดงว่ามาตรการนี้หากทำได้จริงจะได้ผลในแง่ของการลดปัญหาจากการดื่มเหล้าได้

ด้านนายนิติ ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ว่า อิทธิพลการห้ามขายเหล้าวันปีใหม่และวันสงกรานต์คงมาจากนายแพทย์หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ชี้นำสังคมและแรงขึ้นทุกวัน แต่ไม่คิดว่าการทำเช่นนี้จะช่วยแก้ปัญหา เพราะคิดว่าคนคงซื้อตุนไว้ แต่ถ้าเป็นการห้ามดื่มเฉพาะที่ น่าจะได้ผลมากกว่า และไม่เป็นการจำกัดสิทธิของผู้บริโภคมากเท่าการห้ามขายหรือห้ามดื่ม

"ประเทศไทยแย่กว่าประเทศตะวันตก เพราะนายแพทย์จับมือกับผู้มีอำนาจ ไม่เปิดโอกาสให้มีความเห็นที่เป็นทางเลือกจากกลุ่มอื่นมาคัดง้าง ไม่ให้โอกาสกับผู้บริโภค สะท้อนถึงทัศนคติที่ทางกระทรวงสาธารณสุขมองประชาชนคือ โง่ จน เจ็บ ซึ่งเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางชนชั้น ดูถูกคนจน เข้าใจว่าการติดเหล้าเป็นปัญหา อยากให้มองในมุมของคนจนที่ไม่มีทางออก ไม่มีเพื่อน เหงา และอยากให้ลองทำความเข้าใจว่า คนชนชั้นกลางเองก็ดื่มเหล้าเมาได้เช่นกัน เพียงแค่อาจจะไม่ได้ไปปล้นจี้ใครจนเป็นคดีอาชญากรรม แต่อาจกลับไปทำร้ายตบตีคนที่บ้าน ซึ่งถือเป็นการสร้างความรุนแรงเช่นกัน" นายนิติกล่าว

ขณะที่นายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนเคยแสดงความเห็นไว้เมื่อปี พ.ศ.2555 ว่า นโยบายการควบคุมการดื่มสุราถือเป็นการตัดสินชีวิตคนอื่นจากมุมมองของตนเอง โดยมองว่าชาวบ้าน โดยเฉพาะคนจนรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ จึงต้องควบคุมและจัดการ ทางออกคือควรจะไปรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้มงวดกวดขันกับมาตรการและกฎหมายอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น ไม่ใช่มาควบคุมคนจน และอย่าใช้อำนาจก้าวก่ายคนอื่นผ่านกฎหมาย เพราะในสังคมประชาธิปไตย กฎหมายต้องอยู่ในกรอบที่ทำให้คนต่างกันอยู่ร่วมกันได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 7 ธันวาคม 2557