ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.โกมาตรชี้หมอครอบครัวเป็นนโยบายที่ดี แต่ต้องระวังไม่ให้เกิดความแตกแยกระหว่างหมอใหญ่และหมออนามัยในพื้นที่ อย่าให้ทีมพื้นที่ซึ่งใกล้ชิดชาวบ้านเป็นเพียงทีมสนับสนุน จัดคิวเยี่ยมบ้าน เตรียมอาหาร พอทีมหมอครอบครัวกลับไปก็ทิ้งภาระคีย์ข้อมูล เช็คสต็อกยาไว้ แต่ต้องพัฒนาเคียงคู่เป็นแกนหลักกับหมอครอบครัว จนเกิดเป็นระบบดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน ไม่ใช่แค่การเยี่ยมบ้าน

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ 

8 ธ.ค.57 นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ(สวสส.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เตรียมเดินหน้าจัดตั้ง “ทีมหมอครอบครัว” เพื่อดูแลประชาชนในระดับพื้นที่ ว่า เป็นนโยบายที่ดีในการดูแลประชาชนทุกคน แต่สิ่งสำคัญต้องมุ่งพัฒนาทีมหมอครอบครัวที่อยู่ในระดับพื้นที่ด้วย เพราะเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้คือคนทำงานที่คลุกคลีกับชุมชนอย่างแท้จริง จนเรียกกันว่า หมอใกล้บ้าน หรือหมออนามัย และพยาบาลชุมชน โดยต้องให้ความสำคัญกับพวกเขา เนื่องจากที่ผ่านมา ทีมหมอครอบครัวที่ทำหน้าที่สนับสนุน หรือเป็นทีมหลักในการให้คำแนะนำด้านการแพทย์ต่างๆ จะเป็นทีมจากโรงพยาบาลชุมชน มีแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด ฯลฯ  เมื่อลงพื้นที่ไปสนับสนุนการทำงานของทีมในระดับพื้นที่ จะเกิดความรู้สึกแบ่งแยก ระหว่างหมอใหญ่ และหมออนามัย ทำให้ชาวบ้านเกิดคำถามขึ้นว่า จะสามารถเชื่อหมออนามัยได้หรือไม่

“ที่ผ่านมาเมื่อทีมสนับสนุนลงพื้นที่ กลุ่มหมอในระดับพื้นที่กลับทำหน้าที่เพียงจัดคิวคนไข้ เตรียมอาหารรับทีมเยี่ยม เสริฟน้ำเสริฟกาแฟ พอทีมหมอครอบครัวกลับไปก็ทิ้งภาระงานทั้งกรอกข้อมูล เช็คสต๊อคยา เคลียร์ทะเบียนคนไข้ และทำรายงาน ซึ่งหากปล่อยเช่นนี้จะกลายเป็นเพียงการเยี่ยมบ้านคนไข้เท่านั้น และยังเกิดการลดทอนศักดิ์ศรีและศักยภาพของหมออนามัยและพยาบาลชุมชน นโยบายนี้เป็นเรื่องดี แต่ต้องอย่ามองข้ามเรื่องพวกนี้ด้วย โดยการให้ความสำคัญกับหมออนามัย ให้พวกเขาได้ทำงานคู่กับทีมหมอครอบครัวที่ลงไปสนับสนุน ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ และให้คำแนะนำแก่หมออนามัยแบบเรียลไทม์ (real time) มีระบบยาเวชภัณฑ์ที่ไม่เป็นภาระกับพื้นที่ พร้อมทั้งต้องมีระบบการสนับสนุนข้อมูลวิชาการให้หมอครอบครัว เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพด้วย สิ่งเหล่านี้หากทำได้นอกจากจะเพิ่มศักดิ์ศรีให้หมออนามัยแล้ว ยังช่วยในการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้านได้ ไม่ใช่แค่การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเท่านั้น” นพ.โกมาตร กล่าว

นายสาคร นาต๊ะ นายกสมาคมหมออนามัย กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องดีที่ประชาชนจะได้รับการดูแล โดยทีมหมอครอบครัวที่มีศักยภาพ แต่อยากให้เห็นความสำคัญกับหมออนามัยในพื้นที่ด้วย เพราะเป็นกลุ่มที่ถึงตรงชาวบ้าน   

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวถึงการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขเตรียมจัดตั้ง "ทีมหมอครอบครัว" เพื่อเป็นการปรับระบบสุขภาพแนวใหม่ ว่า  ทีมหมอครอบครัว จะเป็นการทำงานของสหวิชาชีพและบุคลากรสาธารณสุขต่างๆ ในระดับพื้นที่ เพื่อดูแลชาวบ้านถึงครอบครัว เน้นการส่งเสริมป้องกันโรค โดยในส่วนของ สปสช. ได้มีการสนับสนุนนโยบายนี้เช่นกัน ยกตัวอย่าง กลไกทางการเงินสำหรับโรงพยาบาลที่มีทีมหมอครอบครัว โดยจะมีเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล( รพ.สต.) แห่งหนึ่งมีประชากร 5 พันคน มีผู้หญิงที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 100 คน หากทุกคนมารับการตรวจทั้งหมด ก็ถือว่าโรงพยาบาลนั้นๆ ให้บริการครอบคลุมผ่านเกณฑ์เงื่อนไข หรือกรณีหญิงตั้งครรภ์ มาฝากครรภ์อย่างทั่วถึงในแต่ละพื้นที่ก็ถือว่าตรงตามเกณฑ์ สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากคำแนะนำของทีมหมอครอบครัวในการดึงชาวบ้านเข้ารับบริการ

“สำหรบกลไกทางการเงินในส่วนนี้จะเรียกว่า งบจ่ายตามคุณภาพการบริการ ซึ่ง ไม่ได้หมายความว่า โรงพยาบาลไหนมีทีมหมอครอบครัวถึงจะได้รับงบประมาณส่วนนี้  อันนี้ไม่ใช่ เพราะหากมีทีมหมอครอบครัวแต่ไม่ได้บริการประชาชนก็ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น สปสช.เน้นผลลัพธ์ที่เกิดกับประชาชน เพราะเมื่อมีทีมหมอครอบครัว ซึ่งจะทำงานคลุกคลีกับชาวบ้าน จากอดีตคนไทยขาดที่ปรึกษาการแพทย์ ยิ่งชาวบ้านยิ่งไม่มี หากมีจะทำให้ประชาชนรู้สึกอบอุ่นมากขึ้นด้วย ต่อไปทุกคนจะมีหมอประจำตัว ดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น” นพ.วินัย กล่าวและว่า สำหรับงบประมาณด้านนี้จะอยู่ที่ประมาณพันกว่าล้านบาท ซึ่งเดิมสปสช.มีการใช้ในด้านต่างๆ อยู่แล้ว แต่ครั้งนี้จะปรับบทบาทให้เข้ากับการเดินหน้านโยบายทีมหมอครอบครัวมากขึ้น โดยจะร่วมกันทำงานกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆ เพื่อเดินหน้าเรื่องนี้