ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ดร.คณิศ” แจงเหตุ บอร์ด สปสช. ไม่เคาะข้อเสนอ สธ.หลังครบ 2 เดือนตามกำหนด ชี้ต้องใช้เวลาศึกษาผลกระทบหากปรับเปลี่ยนวิธีจัดสรรงบขาลง ขอต่อเวลา 1 เดือน พร้อมเผยความคืบหน้า ประเดิมนำร่อง 2 เขต เดินหน้าแยกกองทุนเฉพาะโรคระดับประเทศ-ระดับเขต คาด 1 เดือนเห็นผล แต่ผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยในต้องใช้เวลา อาจไม่ทันไตรมาส 3 แยกงบ อปท. และงบพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกจากงบรวมเหมาจ่าย

     

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ 

9 ธ.ค.57 ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามข้อเสนอกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวขาลงว่า หลังจากที่คณะอนุกรรมการฯ ได้รับมอบจาก บอร์ด สปสช. ให้ไปดำเนินการตามข้อเสนอของ สธ. ซึ่งได้เสนอต่อบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยข้อเสนอของ สธ.นี้ เป็นการขอให้ สปสช.จัดสรรงบลงที่เขต หลังจากที่ สธ.ได้จัดกระบวนการบริหารที่มีการจัดแบ่งเขตบริการสุขภาพขึ้น จากที่แต่เดิมเป็นการจัดสรรงบประมาณในระดับประเทศและจังหวัดเท่านั้น ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดี เพราะในการปรับวิธีจัดสรรงบประมาณนี้จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานทั้ง สธ. และ สปสช.ดีขึ้น ซึ่งยืนยันว่าไม่มีการคิดเลิกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแน่นอน เพียงแต่เมื่อ สธ.ในฐานะผู้ให้บริการรายใหญ่เสนอปัญหาเข้ามา สปสช.จึงต้องรับฟัง  

ดร.คณิศ กล่าวว่า แต่จากที่บอร์ด สปสช.ได้กำหนดให้คณะอนุกรรมการฯ ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ซึ่งเรื่องนี้ได้ขออภัยต่อที่ประชุมไปแล้วว่า ตนไม่สามารถทำงานให้เสร็จตามเวลาได้ทัน แต่ได้นำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อให้บอร์ด สปสช.รับทราบ ดังนี้

1.ข้อเสนอที่ให้ปรับการจัดสรรงบเป็น 4 กองทุนย่อย คือ กองทุนผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และงบบริการ (รวม 6 กองทุนย่อย ได้แก่ งบกองทุนเฉพาะโรค งบฟื้นฟูสรรมภาพ งบแพทย์แผนไทย งบลงทุนการบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน (งบค่าเสื่อม) งบชดเชยผู้เสียหายทางการแพทย์ตาม ม.41 และงบชดเชยผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการ ตาม ม. 18 (3)) เรื่องนี้บอร์ด สปสช.เห็นด้วยกับคณะอนุกรรมการฯ โดยให้ทำงานร่วมกับระหว่าง สธ. และ สปสช. ในการนำร่อง 2 เขต คือ เขต 2 และเขต 10 เบื้องต้นจะยังไม่มีการโอนเงินไปที่เขต แต่จะใช้รูปแบบการบริหารบัญชีเสมือนจริง และจะมีการจัดทำ KPI เพื่อกระจายงบประมาณไปยังหน่วยบริการ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับการจัดสรรงบแบบเดิม

“การนำร่องเขต 2 และ 10 นี้ จะมีการใช้รูปแบบบริหารบัญชีเสมือนจริง คือ การแยกงบประมาณ 9 กลุ่มให้เหลือ 4 กลุ่ม กรณีการของบขาขึ้นในปี 2559 จะยังคงใช้ 9 แถวเหมือนเดิม แต่ปรับในส่วนงบขาลงซึ่งจะรวมและแยกเป็น 4 แถว ที่เป็นเพียงการบริหารจัดการเท่านั้น จึงไม่ส่งผลต่อการจัดสรรงบในปีถัดไป” 

2.ในส่วนของกองทุนเฉพาะโรคที่ สธ.ขอให้จัดสรรไปยังเขตด้วนนั้น เนื่องจากต้องการให้เขตบริหารและทำเป็น KPI เพื่อเป็นผลงานบริการประชาชน เรื่องนี้บอร์ด สปสช.เห็นด้วย เพียงแต่การบริหารควรแยกกองทุนเฉพาะโรคออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ให้คงการบริหารที่ส่วนกลาง และกลุ่มที่จะส่งการบริหารไปยังเขตสุขภาพของ สธ. ซึ่งในรายละเอียดตรงนี้ต้องดูด้วยว่า การบริหาร KPI ของแต่ละเขตเป็นอย่างไร โดยเรื่องนี้สามารถดำเนินการภายในระยะเวลาสั้นให้แล้วเสร็จได้ 

“ข้อสรุปข้างต้นนี้เป็นความคืบหน้าการดำเนินงานของทาง สปสช.หลังจากได้ข้อเสนอของ สธ. ทั้งนี้ขอย้ำว่าทั้ง สธ.และทุกคนที่ทำงานนี้ต่างหวังดีเพื่อนำไปสู่การบริหารที่ดีและให้ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น” ดร.คณิศ กล่าว

ดร.คณิศ กล่าวต่อว่า ในการประชุมบอร์ด ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ประธานบอร์ด สปสช. ให้เวลาคณะอนุกรรการฯ ดำเนินการเพียง 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งคงต้องรีบทำงาน ส่วนจะแล้วเสร็จทันไตรมาส 3 หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับบางเรื่อง อย่างการปรับจัดสรรงบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในอาจต้องถามความเห็นประชาชนก่อน แต่ถ้าเป็นข้อเสนอจัดสรรงบเฉพาะโรคคงทำในเดือนเดียวเสร็จ ส่วนข้อเสนอแยกงบ อปท.ได้ดำเนินเรียบร้อยแล้ว และในปี 2559 จะแยกเป็นงบต่างหาก

“ส่วนที่บอร์ด สปสช.ไม่สามารถพิจารณาข้อเสนอ สธ.ตามกำหนดใน 2 เดือนนั้น ต้องบอกว่าเรื่องนี้มีหลักการ ซึ่งการจะนำระบบใหม่เข้ามาปรับเปลี่ยนต้องพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่ทำทำให้ทุกคนดีขึ้น และผลกระทบที่ได้รับนั้นจะได้รับการดูแลเช่นกัน จึงต้องใช้เวลา” ดร.คณิศ กล่าว